กำหนดราคาขายให้ชัดเจน ก่อนเปิดร้าน
ร้านค้าราคาเดียว เปรียบได้กับ “ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์”
ที่ลูกค้าเข้ามาในร้าน จะไม่มีความกังวลในเรื่องของราคา
เพราะรู้อยู่แล้วว่าต้องจ่ายเงินเท่าไร และมักจะเลือกซื้อสินค้าครั้งละหลาย ๆ ชิน
แต่ก่อนที่จะเปิดร้าน เราจะต้องกำหนดว่าจะขายสินค้าทุกอย่างในราคากี่บาท
หากเป็นแฟรนไชส์ก็จะมีความชัดเจน แต่หากเปิดร้านอิสระ เจ้าของร้านคือผู้ตัดสินใจ
ตัวอย่างเช่น “ร้านสำเพ็ง 76” ร้านขายส่งในซอยเอกชัย
76 ที่ปัจจุบันรับช่วงดูแลโดยรุ่นที่ 2 คือคุณยอดยศ วงษ์วานิช
ที่ตั้งใจจะให้ที่นี่เป็นศูนย์ขายส่งที่มีสินค้าครบวงจร
ลูกค้ามาที่นี่ที่เดียวได้สินค้าครบกลับไป ร้านสำเพ็ง 76 จึงมีสินค้าหลากหลายราคา
ตั้งแต่ทุกอย่าง 10 บาท 20 บาท และ 100 บาท ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าในการทำการตลาด
เช่น หากทำเลที่ผู้ลงทุนเล็งอยู่มีร้านทุกอย่าง 20 บาทตั้งอยู่ก่อนแล้ว
สามารถเปิดร้านทุกอย่าง 10 บาท สู้ได้ หรือกรณีร้านที่มีพื้นที่มาก
สามารถลงขายสินค้าได้ทั้ง 3 ราคา
“สินค้าทุกอย่าง 10 บาท 20 บาท จะมีขนาดและคุณภาพใกล้เคียงกัน
กรณีลูกค้าต่างจังหวัดที่ต้องแบกภาระค่าขนส่งทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น
สามารถนำสินค้าที่มีต้นทุน 7-8 บาท นำไปรวมขายในร้านทุกอย่าง 20 บาทได้
สำหรับสินค้าทกอย่าง 100 บาท จะมีขนาดและคุณภาพที่แตกต่างอย่างชัดเจน
หากภายในร้านจะมีมุมทุกอย่าง 100 บาทอยู่ด้วย ก็สามารถทำได้อย่างลงตัว
ทั้งนี้กำไรของสินค้าราคาเดียวจะอยู่ที่ประมาณ 25-30%
ผู้ลงทุนจะคืนทุนเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย เช่นค่าเช่าสถานที่
ค่าจ้างพนักงาน ผู้เปิดร้านใหม่จึงควรมีเงินลงทุนเพียงพอสำหรับลงทุนในครั้งแรก
ทั้งในส่วนของสินค้าและการตกแต่งสถานที่
หลังจากนั้นเราค่อยนำเงินที่ได้จากการขายสินค้า มาเติมสินค้าในรอบต่อ ๆ ไป”
90% ของความสำเร็จคือ ทำเล
ผู้ที่ก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้
หลายคนอาจเพลิดเพลินกับความละลานตาของสินค้า
และสนุกกับกำไรที่จะตามเข้ามาจากการขายสินค้า จนมองข้ามเรื่องที่สำคัญที่สุดไป
นั่นคือ “ทำเล”
ซึ่งทำเลเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของธุรกิจนี้ถึง 90% เลยทีเดียว
กุญแจความสำเร็จ 90% คือ ทำเล อีก 10%
เป็นเรื่องของสินค้าและการบริหารจัดการ ถ้าทำเลดี ไม่ว่าสินค้าเป็นอะไรก็ขายได้หมด
สำหรับทำเลในการเปิดร้านค้าปลีกราคาเดียว มีตั้งแต่ตลาดนัด อาคารพาณิชย์
โมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า
ซึ่งทำเลสองอันหลังถือว่ามีคุณสมบัติครบเครื่องในเรื่องการทำสื่อประชาสัมพันธ์ครบวงจรเพื่อเรียกลูกค้าเข้ามาในห้าง
ใครที่ลงทุนในทำเลดังกล่าว แม้จะมีค่าเช่าที่สูง
แต่ก็จะช่วยตัดภาระในเรื่องการประชาสัมพันธ์ร้านค้าไปได้มาก
เพียงแต่ทุกองค์ประกอบของร้าน จะต้องเหมาะสมกับภาพลักษณ์ของห้าง เช่นการตกต่างร้าน
การเลือกเกรดและคุณภาพสินค้า
หากเป็นทำเลตลาดนัด ควรเป็นตลาดประจำ ที่มีการตั้งวางสินค้าถาวร
ไม่แนะนำตลาดนัดเร่ที่ต้องขายแล้วยกเก็บทุกครั้ง แม้จะขายดีแต่ไม่คุ้มเสีย
เพราะการยกสินค้าทุกครั้งจะมีความเสื่อม ความหมอง ความช้ำของสินค้า
ยิ่งเป็นของชิ้นเล็ก ๆ เวลาช้ำแล้ว ไม่น่าหยิบ แต่ไม่ว่าจะขายในทำเลใดก็ตาม
ควรเลือกทำเลที่มีคนผ่าน ถ้าลูกค้าผ่านอกาสที่เขาจะแวะเข้ามาในร้านก็มีสูง
จัดเต็มสารพันสินค้าพร้อมขาย
ด้วยเสน่ห์ของร้านค้าราคาเดียว
อยู่ที่สินค้ามีให้เลือกหลากหลายภายในร้านเดียว หากคิดจะลงทุนเบา ๆ
มีสินค้าขายจำนวนไม่มาก ควรเปลี่ยนใจกลับไปขายแบบจัดราคาสินค้าเป็นชิ้น ๆ
จะดีกว่าขายสินค้าราคาเดียวทั้งหลาย ความหลากหลายของสินค้าส่งผลโดยตรงกับยอดขาย
และช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน แต่สินค้ามีอยู่มากมาย
แถมมีการนำเข้ามาใหม่ตลอด ผู้ที่จะลงทุนจะต้องมีสายตาในการเลือกซื้อสินค้าเข้าร้าน
เลือกแบบที่ถูกใจไปวางขายในร้านให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
ลูกค้าของเราในพื้นที่เป็นกลุ่มใด ก็ให้น้ำหนักในการเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มนั้นเป็นพิเศษ
สำหรบการจัดวางสินค้า จะต้องสะดุดตาตั้งแต่หน้าร้าน
เมื่อเดินเข้าไปภายในก็ต้องมีบรรยากาศที่น่าเดินเลือกซื้อสินค้า
มีการจัดแบ่งหมวดหมู่สินค้าชัดเจน ลูกค้าสามารถมองเห็นและหยิบซื้อได้ง่าย
สินค้าขายตัวเองได้ ไม่ต้องมีคนคอยอธิบายคุณสมบัติ
เพียงแต่ต้องหมั่นเติมสินค้าใหม่ ๆ หรือพลิกแพลงเทคนิควิธีการขาย
เพื่อให้สินค้าขายหมดทุกตัว
“สินค้าทุกตัวมีโอกาสขายได้ 100%
แต่จะขายได้หมดทั้ง 100% คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสินค้าแต่ละตัววิ่งเร็ว
วิ่งช้าแตกต่างกันไปในแต่ละทำเล และความต้องการของลูกค้า
หากเล็งเห็นว่าสินค้าบางตัวเริ่มนิ่งลูกค้าไม่หยิบจับเลย
ก็ต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อไม่ให้ทุนจมไปกับสินค้านั้น
แนะนำว่าให้ลองเปลี่ยนที่วางบ้าง เช่น ดึงออกมาโชว์หน้าร้าน ให้ลูกค้าเห็นสินค้าชัด
ๆ ก็มีโอกาสขายได้อีกเช่นกัน”
อ่านต่อ >> มินิซีรีย์ ธุรกิจร้านค้าราคาเดียว ตอนที่ 4 (จบ)
ที่มาบทความ นิตยสารเถ้าแก่ใหม่