พืชเครื่องเทศเงินล้าน ณ ทุ่งรังสิต อาชีพที่เกษตรกรไม่ควรมองข้าม
ที่มาภาพ https://pixabay.com |
ขณะที่ภาคการเกษตรของไทยกำลังประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ราคาผันผวน และสภาพภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก แต่พืชเครื่องเทศประเภทข่า ตะไคร้ และใบมะกรูด ที่หลายคนอาจมองข้าม กลับพบว่า เกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะย่านทุ่งรังสิต จ.ปทุมธานี รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงอย่าง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ที่ปลูกป้อนส่งตลาดไท บริษัทแปรรูป และส่งออก สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อย่าง "อัฐพร ทองย้อย" ข้าราชการครู ที่หันมายึดอาชีพเสริมด้วยการปลูกข่า ตะไคร้ มะกรูด ย่านคลอง 12 และคลอง 13 จ.ปทุมธานี ในนาม "ไร่ท่านขุน" ปรากฏว่ากลายเป็นรายได้หลัก ในแต่ละปีสร้างเม็ดเงินเข้าบ้านหลายล้านบาท
อัฐพร เล่าว่า ปกติครอบครัวเป็นมนุษย์เงินเดือน ตนเองรับราชการครู เป็นอาจารย์สอนวิชากลุ่มงานอาชีพและเกษตรในสถานศึกษาแห่งใน จ.ปทุมธานี ส่วนสามีเป็นพนักงานบริษัท ที่ดำเนินกิจการด้านการเกษตรครบวงจร ตนและครอบครัวไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเป็นเกษตรกร ยามว่างก็ปลูกพืชเครื่องเทศจำพวกข่า ตะไคร้ และมะกรูดอย่างที่เห็น แต่สามีทำงานด้านการเกษตร มองถึงพืชเศรษฐกิจที่ป้อนภาคอุตสาหกรรมจำพวกปาล์มน้ำมัน เมื่อครั้งที่ปาล์มน้ำมันราคาดีในปี 2546 และมองว่าในพื้นที่คลองต่างๆ ของ จ.ปทุมธานี มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน จึงไปหาที่เช่าพื้นที่แปลงหนึ่ง 200 ไร่ ติดคลอง 13 ต.พืชอุดม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เจ้าของเดิมปลูกข้าวโพดหวาน จึงเซ้งมาในราคา 8 แสนบาท ทำสัญญาครั้งละ 5 ปี
"ที่สวยมากค่ะ เห็นแล้วชอบ หลังจากเซ็นสัญญาแล้ว จะเริ่มต้นปลูกปาล์มน้ำมัน ปรากฏว่าเจ้าของที่ตัวจริงไม่ยอม เพราะเราเช่าต่อ คราวนี้แหละ... เราจะเอาอย่างไรดี ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ด้วยการเจรจากับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อเป็นแปลงปลูกพ่อพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีแรกได้กำไรดี พอปีที่สองขาดทุน เพราะสภาพดินเป็นดินเหนียวไม่เอื้อต่อการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เราต้องมาวางแผนใหม่อีกครั้ง" อัฐพร ย้อนอดีต
การเริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วยการปลูกตะไคร้ในปี 2547 เพราะเห็นคนอื่นปลูกและมีพ่อค้ามารับถึงที่ เลือกพันธุ์ "เกษตร" ส่งแม่ค้ารายย่อยที่ส่งตลาดเพื่อบริโภควันต่อวัน วันละ 300-400 กก. ราคาพออยู่ได้ จนมาวันหนึ่งราคาตกต่ำมาก กก.ละ 1 บาท ตอนนั้นเกือบจะเผาทิ้งไปแล้ว แต่ยังชั่งใจอยู่ ในระหว่างนั้นเดินหาตลาดหลายแห่งนำผลผลิตให้พิจารณา รวมถึงที่บริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องแกง ตรา "โลโบ" ที่ส่งอยู่ปัจจุบันด้วย
"ตอนที่ไปเสนอให้ โกลโบ ฟู้ดส์ ซึ่งต้องยอมรับว่า บริษัทที่ดำเนินกิจการที่มีคุณภาพ สิ่งที่เขาต้องการคือผลผลิตที่มีคุณภาพ และความสม่ำเสมอเพื่อประกันความเสี่ยง โดยทางโกลโบ ฟู้ดส์ ไม่มั่นใจว่าเราจะผลิตได้สม่ำเสมอ จนเวลาผ่านไป ทางโกลโบ ฟู้ดส์ ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแปลงปลูก และเก็บตัวอย่างไป แต่ของเรา สามีทำงานบริษัทใหญ่ จึงเน้นในเรื่องของคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องปลอดสาร ซึ่งของเราได้รับการรับรองมาตรฐานเจเอพี (GAP) ต่อมาจึงรับซื้ออาทิตย์ละ 2 ตัน ตรงนี้แหละเป็นที่สร้างความหวัง และเป็นจุดประกายว่า เรากำลังเดินทางที่ถูกแล้ว และต่อมามีบริษัทอีกหลายแห่งมาติดต่อให้ส่งไปจนถึงวันนี้" อัฐพร กล่าว
อาชีพเสริมของอัฐพรฟื้นขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ จนกลายเป็นที่ยอมรับของลูกค้าในวันนี้คือ ช่วงน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 พื้นที่ปลูกพืชเครื่องเทศส่วนใหญ่ประสบน้ำท่วม แต่ไร่ท่านขุน เหลืออยู่อย่างมหัศจรรย์ เธอสามารถป้อนผลผลิตให้ลูกค้าได้ และปีเดียวกันที่ลูกค้ารายอื่นไปขอแบ่งซื้อจำนวนมาก
"เราทำการค้า แม้ว่าช่วงนั้นมีบริษัทหลายแห่งเสนอราคาสูงมาก ถึง กก.ละ 40 บาท จากปกติ กก.ละ 8 บาท แต่เราต้องส่งเจ้าประจำก่อน เราต้องจริงใจซึ่งกันและกัน เพราะนี่คือปากท้องเรา จากจุดนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของไร่ท่านขุนของเราสูงมาก เราสม่ำเสมอ จนทำให้ในปี 2555 ต้องขยายพื้นที่ปลูกใหม่อีก 200 ไร่ ที่คลอง 12 อ.หนองเสือ และอีก 100 ไร่ ที่คลอง 7 และคลอง 8 รวมกว่า 500 ไร่ ปลูกทั้งตะไคร้กว่า 400 ไร่ ข่า 60 ไร่ และมะกรูด 30-40 ไร่ ป้อนให้หลายบริษัท ทั้งตลาดสด โรงงานแปรรูป และส่งออก" เจ้าของไร่ท่านขุน กล่าว
จากวันที่่ครั้งหนึ่งอัฐพรจะเผาไร่ตะไคร้ทิ้ง มาวันนี้เธอเป็นผู้ผลิตพืชเครื่องเทศ อาทิตย์ละ 6-7 ตัน มูลค่าแต่ละเดือนเป็นเงินนับแสนบาท
ด้าน พยนต์ มูลเกิด อดีตวิศวกรของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ยอมทิ้งเดือนเงินกว่า 7 หมื่นบาท หันมาปลูกตะไคร้ บอกว่า เมื่อ 11 ปีก่อน ในระหว่างที่ทำงานประจำได้ปลูกตะใคร้ 4 ไร่ แถวๆ บ้านย่านคลอง 7 อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี จะมีแม่ค้ามารับซื้อประจำถึงที่ เห็นว่ารายได้ดี จึงขยายพื้นที่ 20 ไร่ มีรายได้ปีละ 2-3 แสนบาท มานั่งคำนวณถ้า 100 ไร่ ต้องได้เป็นล้าน ในที่สุดเมื่อ 2 ปีก่อนลาออกจากงาน เช่าที่ติดคลอง 13 ต.หนองหมู อ.วิหารแดง จ.สระบุรี อีก 100 ไร่ นอกจากนี้ได้โควตาด้านตลาดมา จึงขยายลูกไร่อีก 600 ไร่ ทำให้มีรายปีละหลักล้านบาท โดยมีตลาดหลักเป็นโรงงานแปรรูป และส่งออกใน จ.นครปฐม จ.ปทุมธานี รวมถึงตลาดไทด้วย
ส่วน อรทัย สูงเส็ง แม่ค้าซื้อพืชเครื่องเทศรายใหญ่ในโซนลานผัก ตลาดไท บอกว่า รับซื้อข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มากว่า 15 ปีแล้ว จะเน้นลูกสวนที่เป็นเจ้าประจำ เน้นพื้นที่ปลูกที่ จ.ปทุมธานี เป็นหลัก ที่เหลือบางส่วนจากสระบุรี และอ่างทอง ซึ่งในแต่ละวันจะรับซื้อประมาณ 3-4 ตัน เป็นตะไคร้มากที่สุดในราคา กก.ละ 8 บาท ส่วนข่า กก.ละ 3-4 บาท มะกรูด กก.ละ 30-40 บาท โดยผลผลิตที่รับซื้อทั้งหมดจะส่งให้แม่ค้าที่ขายปลีกตามตลาดนัด รถซาเล็ง และอีกส่วนหนึ่งส่งไปตามร้านอาหารกระจายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งในรูปแบบของเฉพาะอย่าง และจัดเป็นเครื่องชุดต้มยำที่ขายดีที่สุด ทำให้ในแต่ละวันจะมีเงินหมุนเวียนในการซื้อขายราว 5 หมื่นบาท
ไปหน้าแรก อาชีพเสริมแก้จน เกษตรทำเงิน
บทความโดย โดย...ดลมนัส กาเจ
ที่มาบทความ http://www.komchadluek.net/news/detail/209800