อาชีพแก้จน ‘เพาะเห็ดฟางทำเงิน’ ถึงไม่ใหม่แต่ก็ยังขายดีทุกเทศกาล
โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้านั้นมีพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครง การคือกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งก็เป็น “ช่องทางทำกิน” ของชาวบ้าน และสำหรับการ “เพาะเห็ดฟาง” ก็มีศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดฟางเป็นทั้งแหล่งให้ความรู้ และเป็นแหล่งรวบรวมเห็ดจากสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด และผักปลอดสารพิษ ซึ่งแต่ละวันก็จะมีเห็ดฟาง 200-300 กก. เป็นอย่างต่ำ
บัญชา มัจฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด และผักปลอดสารพิษ ต.บ้านซ่อง เล่าว่า รวมกลุ่มผักปลอดสารพิษบ้านหนองหว้ามาตั้งแต่ปี 2548 แรกเริ่มเดิมทีมีสมาชิก 12 คน โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานเกษตร อ.พนมสารคาม, เทศบาลนคร ต.บ้านซ่อง และ มีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอมาถ่ายทอดความรู้ให้
สำหรับการรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษ เริ่มกันในปีนี้ โดยมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 ครัวเรือน ในส่วนของเห็ดจะผลิตได้วันละกว่า 200-300 กก.ขึ้นไป ซึ่งหลังรวมตัวกันในเรื่องการเพาะเห็ดฟาง ฟาร์มเห็ดก็ได้สร้างรายได้ให้ชาวบ้านและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับชุมชนได้มากขึ้น
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด บอกว่า ปัจจุบันมีโรงเรือนเพาะเห็ดของกลุ่มฯ กว่า 100 โรง ซึ่งหากไม่มีปัญหาอะไรโรงเรือนแต่ละโรงจะให้ผลผลิตเห็ดเฉลี่ยเดือนละ 250-300 กก. โดยสร้างรายได้ กก.ละ 55 บาทขณะที่ต้นทุนของการผลิตเห็ดฟางนั้นตก กก.ละ 25-30 บาท ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงศูนย์
โรงเรือนแต่ละแห่งจะสร้างด้วยไม้ หลังคามุงด้วยใบจาก และต้องมีผ้าใบคลุมด้วย ในกรณีที่จะต้องรักษาอุณหภูมิ โรงเรือนนั้นจะมีขนาด 5 x 8 เมตร ขนาด 4 ชั้น 2 แถว โดยมีต้นทุนโรงละ 15,000-20,000 บาท
ส่วนกรรมวิธีเพาะเห็ด จะเริ่มตามลำดับของวัน คือ วันที่ 1-3 แช่ปาล์ม จำนวน 2.5-3 ตัน ในน้ำ (ปริมาณท่วมปาล์มพอดี) ใช้ทะลายปาล์มที่หีบน้ำมันออกหมดแล้ว หรืออาจจะใช้กากมันสำปะหลัง หรือใช้เปลือกถั่วก็ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับปาล์มน้ำมันในปริมาณดังกล่าวจะใช้กับโรงเรือนได้ 4 โรงเรือน ซึ่งต้องผสมอีเอ็มหรือน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพจำนวน 3 ลิตร, กากน้ำตาล 3 ลิตร และปุ๋ยยูเรีย 3 กก. ละลายให้เข้ากัน แช่ทิ้งไว้ 3-4 คืน แล้วนำขึ้นมา เพื่อเตรียมขึ้นปาล์มบนโรงเรือน
วันที่ 4 ขึ้นปาล์ม โดยมีอาหารเสริมด้วย (เป็นส่วนผสมที่คลุกระหว่าง ขี้วัว 45 กก., รำข้าว 25 กก., อีเอ็มหรือน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ 100 ซีซี, กากน้ำตาล 100 ซีซี และน้ำเปล่า 100 ลิตร)
วันที่ 5-7 เลี้ยงเชื้อรา คือจะมีราขาวขึ้นบาง ๆ บนปาล์มน้ำมัน
วันที่ 8 อบไอน้ำ (จะมีหม้อต้มน้ำด้านหลังโรงเรือน และปล่อยไอน้ำตามท่อเข้าไปในโรงเรือน และขณะอบไอน้ำต้องคลุมผ้าใบโรงเรือนให้มิดชิดด้วย) รักษาอุณหภูมิ 70-75 องศาฯ นาน 3 ชั่วโมง
วันที่ 9 โรยเชื้อ (ชั้นละ 7 ก้อน อัตราส่วน 1.5 ตร.ม. / เชื้อเห็ด 1 ก้อน) ซื้อจาก จ.นครนายก ราคาก้อนละ 10 บาท แต่ถ้าเขี่ยเชื้อเห็ดเองได้จะเหลือต้นทุนก้อนละ 5 บาท)
วันที่ 10-13 เลี้ยงใย (รักษาอุณหภูมิ 30-34 องศาฯ)
วันที่ 14 ตัดใย (วิธีการคือ ใช้น้ำเปล่ารดให้ยุบลง และเปิดช่องระบายอากาศ)
ทิ้งไว้ถึงวันที่ 17-30 เก็บผลผลิต (รักษาอุณหภูมิ 28-32 องศาฯ) ซึ่งในระยะ 2 สัปดาห์ จะเก็บผลผลิตได้ 3- 4 ครั้ง โดยเก็บเสร็จแล้ว รดน้ำ และปล่อยไว้อีก 3-4 วัน จะได้ปริมาณเห็ดในจำนวนที่กล่าวไว้ข้างต้น
เทคนิคในการเก็บเห็ดนั้น บัญชาแนะนำว่า ควรจะ เก็บเห็ดฟางเมื่อเห็ดออกเป็นดอกตูม ๆ ซึ่งเห็ดลักษณะนี้ จะได้ราคาดี ส่วนถ้าเป็นเห็ดบาน ๆ ราคาจะไม่ดี ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ดอกเห็ดบานจนเกินไป
“เพาะเห็ดฟางขาย” ยังเป็นอาชีพด้านเกษตรที่น่าสนใจ หากสนใจเรื่องราวการเพาะเห็ดฟาง ติดต่อ ได้ที่คุณบัญชา มัจฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดฯ หมู่ 3 ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อขอไปเรียนรู้ได้ ที่โทร. 08-0622-8681
บทความโดย สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล เดลินิวส์ออนไลน์
ไปที่หน้าแรก อาชีพเสริมแก้จน