ร้าน “กาแฟนอกบ้าน” สร้างเอกลักษณ์ด้วยการตกแต่งสไตล์ย้อนยุค รวบรวมของเก่าหายากออกมาโชว์ สอดคล้องกับการเลือกทำเลเปิดในตลาดนัดรถไฟ แหล่งค้าขายของเก่าชั้นนำใจกลางกรุงเทพฯ ช่วยดึงดูดลูกค้าผู้รักกาแฟและของเก่า ไม่พลาดที่เข้ามาละเลียดรสกาแฟโบราณ พร้อมอิ่มเอมไปกับบรรยากาศแห่งวันวาน
|
เจ้าของร้านกาแฟดังกล่าว คือ เกณิกา อมาตยกุล ซึ่งรักของเก่าอย่างมาก มักเสาะหาเก็บสะสมไว้จำนวนมาก ในที่สุดนำออกขาย กลายเป็นอาชีพที่ยึดต่อเนื่องมาหลายปี นอกจากของเก่าแล้ว ยังนิยมการดื่มกาแฟไม่แพ้กัน เป็นแรงบันดาลใจอยากสร้างร้านกาแฟ โดยหยิบของเก่าสะสมมาตกแต่ง เพื่อให้ร้านแห่งนี้ เป็นพื้นที่สำหรับคอกาแฟที่รักในของเก่า ได้เข้ามานั่งพูดคุยเล่าความประทับใจ รวมถึง แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเกี่ยวกับของเก่าระหว่างกัน
|
|
ตกแต่งร้านด้วยของเก่า |
|
|
ด้วยจุดยืนชัดเจนที่ต้องการให้เป็นร้านสไตล์ย้อนยุค ทำเลที่ตั้งจำเป็นต้องสอดคล้องกัน โดยเลือกเปิดในแหล่งซื้อขายของเก่าใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง “ตลาดนัดรถไฟ” ซึ่งมีข้อดีทั้งการเดินทางสะดวกสบาย และยังเป็นศูนย์กลางที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมารวมตัวกันอยู่จำนวนมาก “กรรมวิธีการชง ดิฉันเลือกใช้วิธีชงแบบโบราณ ผ่านถุงชง แต่วัตถุดิบเป็นกาแฟสดผ่านการคั่วบด ทำให้กลิ่นหอม รสกลมกล่อม ซึ่งสูตรต่างๆ ดิฉันจะเรียนรู้ ลองผิดลองถูกเอง จนได้สูตรประจำร้าน โดยช่วงแรกมีแค่ 5 เมนู คือ กาแฟเย็น โอเลี้ยง ชาดำเย็น ชาเย็น และชามะนาว” เกณิกา กล่าว และเล่าต่อว่า
|
|
ชงด้วยถุงแบบโบราณ |
|
|
ช่วงแรกตั้งร้านบริเวณลานค้าขาย ซึ่งลูกค้าให้การตอบรับอย่างดียิ่ง จนต้องขยับขยายเป็นร้านถาวร มีบริการทั้งหมด 19 โต๊ะ สามารถรองรับลูกค้าได้ประมาณ 80 คน เพิ่มเมนูหลากหลาย ปัจจุบันมีกว่า 30 รายการ ทั้งประเภทเครื่องดื่ม และเสริมด้วยประเภทขนมปังต่างๆ เปิดร้านเฉพาะวันที่ตลาดนัดรถไฟเปิด คือ วันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลาประมาณบ่ายสามโมงไปจนถึงเที่ยงคืน
|
|
ด้านนอกร้าน “กาแฟนอกบ้าน” |
|
|
เจ้าของร้าน เผยด้วยว่า ปัจจุบัน ยอดขายเฉลี่ยกว่า 500 แก้วต่อวัน ราคาอยู่ที่ 20-40 บาทต่อแก้ว กำไรเฉลี่ยแก้วละ 50% กลุ่มลูกค้าหลักของร้าน ส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยทำงานที่มาเลือกซื้อหาของเก่าในตลาดนัดรถไฟ นอกจากนั้น จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น อาศัยร้านเป็นจุดนัดพบพูดคุยกัน
|
“ดิฉันเชื่อว่า การทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหาร สิ่งสำคัญ คือ คุณภาพและบริการที่ดี ถ้าทำสองสิ่งนี้ดีแล้ว การกลับมาซื้อซ้ำย่อมเกิดขึ้น อย่างที่ร้านกาแฟนอกบ้านใช้การตกแต่งภายนอกเป็นตัวกระตุ้นเรียกลูกค้าอยากมาทดลอง หลังจากนั้น เมื่อชิมรสแล้ว จะสัมผัสได้ถึงคุณภาพ เพราะเราให้ความสำคัญต่อวัตถุดิบมาก ดิฉันจะไปเลือกซื้อด้วยตัวเองทั้งหมด ส่วนด้านบริการจะกำชับพนักงานทุกคนต้องสร้างความประทับใจ แม้บางกรณีลูกค้าอาจจะเป็นฝ่ายผิด เช่น สั่งเมนูผิดเอง เราก็ยินดีเปลี่ยนให้ใหม่ เพราะยึดหลักว่า บางครั้งเราต้องยอมขาดทุนดีกว่าเสียลูกค้า” เกณิกา เผยหลักคิดในการทำร้านกาแฟ
|
|
กาแฟโบราณกินคู่ขนมปังปิ้ง |
|
|
@@@ ต่อยอดขยายแฟรนไชส์ @@@@ จากสไตล์ร้านอันโดดเด่น ที่ผ่านมา มักมีผู้สนใจ โดยเฉพาะลูกค้าขาประจำ ติดต่อขอซื้อสิทธิ์ไปสร้างอาชีพจำนวนมาก เป็นที่มาให้ร้านกาแฟนอกบ้าน ต่อยอดกิจการด้วยการขายระบบแฟรนไชส์ ปัจจุบัน มีผู้ร่วมธุรกิจ 1 สาขา ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านสัมมากร สุขาภิบาล 3 เกณิกา อธิบายเสริมว่า การคัดเลือกผู้มาร่วมธุรกิจ สิ่งสำคัญที่สุด ต้องเป็นคนมีความมุ่งมั่น และรักในแบรนด์กาแฟนอกบ้าน พร้อมจะรักษามาตรฐานให้อยู่ระดับเดียวกัน รวมถึง ต้องเป็นคนมีรสนิยมชื่นชอบของเก่าเหมือนๆ กัน
|
|
บรรยากาศภายในร้าน |
|
|
ด้านการลงทุนเบื้องต้น เบ็ดเสร็จรวมตกแต่งร้านและอุปกรณ์ครบชุดพร้อมขาย ขนาดพื้นที่รองรับลูกค้า 2-3 โต๊ะ ราว 200,000 บาท แต่ถ้าต้องการรูปแบบและขนาดเดียวกับร้านต้นแบบ ราว 350,000 บาท อายุสัญญาแฟรนไชส์กำหนดไว้ปีต่อปี ค่าต่อสัญญาใหม่ 20,000 บาท มีเงื่อนไขสำคัญ ต้องรับวัตถุดิบหลักจากเจ้าของแฟรนไชส์ ได้แก่ กาแฟ ชาแดง ชาเขียว ชาจีน บ๊วย และคาราเมล ส่วนวัตถุดิบอื่น จะระบุให้ซื้อตามยี่ห้อกำหนดเท่านั้น เพื่อให้คุณภาพและรสชาติเหมือนกัน
|
“ใครไม่ชื่นชอบของเก่า คงก้าวเข้ามาจับธุรกิจกาแฟนอกบ้านไม่ได้ เพราะสิ่งนี้ถือเป็นจุดยืนของร้าน ซึ่งเราไม่ต้องการเน้นให้มีปริมาณสาขาเปิดมากๆ แต่เน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพ ต้องดูแลให้ทั่วถึง เพราะคุณภาพร้านสาขา มันเหมือนบูมเมอแรงที่สะท้อนกลับมาสู่เจ้าของแฟรนไชส์ แต่ถ้ามีใจรักจริง ก็ยินดีที่จะก้าวไปด้วยกัน ส่วนเรื่องการฝึกปรือฝีมือ ขอเข้มงวด เรียกว่าถ้าไม่เก่งจริง ไม่ปล่อย” เจ้าของระบุ
|
|
|