“นภัทร ปูคะวนัช” เจ้าของบริษัท ออร์แกไนซ์ ไอ-ไนน์ ก็เป็นอีกคนที่ตกหลุมรักตุ๊กตามิกกี้เมาท์ และต้องซื้อติดมือกลับมาทุกครั้งที่มีโอกาสไป Disneyland จากความชื่นชอบ ก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตุ๊กตาหมีของตัวเองในชื่อแบรนด์ “โอ้ แบร์” (Oh! Bear) และหวังจะปั้นให้ตุ๊กตาหมี Oh! Bear เลือดไทยตัวนี้เจริญรอยตามตุ๊กตานอกอย่างมิกกี้เมาท์
“เราทำบริษัทออร์แกไนซ์ มากว่า 15 ปี ซึ่งเน้นเรื่องการบริการเป็นหลัก ก็เริ่มอยากจะมีโปรดักส์สักตัวที่เป็นของตัวเอง เมื่อ 3 ปีที่แล้วจึงตั้งบริษัท โอ้ แบร์ ขึ้นเพื่อผลิตตุ๊กตาหมีแบรนด์ ‘โอ้ แบร์ ‘ ที่เป็นตุ๊กตาหมี Oh! Bear อย่างแรกก็เพราะชอบอยู่แล้วเป็นการส่วนตัว อย่างที่สองมองว่าตุ๊กตาหมีเป็นของที่ขายกับอิโมชั่น หรืออารมณ์และความรู้สึกของคน ซึ่งของแบบนี้จะขายได้เร็วกว่า”
ด้วยความที่อยู่ในแวดวงออร์แกไนซ์ที่มีคู่แข่งสูงมานาน นภัทรทราบดีว่าการที่โปรดักส์สักตัวจะติดตลาดได้ อย่างแรกที่ต้องทำ คือ มองหาความแตกต่าง ดังนั้น “ตุ๊กตาหมี Oh! Bear” จึงแตกต่างจากตุ๊กหมีแบบมาตรฐานอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีทั้งขนนุ่มๆ และสีน้ำตาลที่อบอุ่น แต่เป็นตุ๊กตาหมีที่ไร้ขน แขนขาขยับได้ ทำจากวัสดุหลายชนิด แถมยังแตกต่างกันไป ทั้งสี ขนาด และรูปแบบ
“เนื่องจากเป็นสินค้าที่เล่น กับอิโมชั่นของคนเป็นหลัก จึงต้องมีความหลากหลาย เพราะแต่ละคนมีความชอบที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ความแตกต่างตรงนี้กลายเป็นเสน่ห์ของตุ๊กตาหมี Oh! Bear เช่น Classic Bear เป็นเพียงชนิดเดียวที่มีขน เพราะต้องการคงความเป็นออริจินัลของตุ๊กตาหมี แต่จะมีจุดเด่นตรงที่มีแขน-ขายาวเป็นพิเศษ และมีเท้าโต สามารถขยับได้ทั้งตัวSoft Bear ที่เล่นกับคอนเซ็ปต์ที่ว่า ความรักทำให้คนตาบอด ตุ๊กตาหมีคอลเลคชั่นนี้จึงไม่มีตา มีเพียงจมูกโตๆ บนใบหน้าเท่านั้น Square Bear ตุ๊กตาหมีหน้าเหลี่ยม ตัวเหลี่ยม แม้แต่ใบหูก็ยังเป็นสี่เหลี่ยม หรือ Angle Bear ที่โดดเด่นเรื่องความหลากหลายของขนาดตั้งแต่เล็ก กลาง ใหญ่ หลากหลายทั้งสีสัน และวัสดุที่นำมาใช้”
หลายคนที่เห็นตุ๊กตาหมี “โอ้ แบร์” จึงบอกว่าทั้งแปลก และแรง เพราะมีแต่สีสันเจ็บๆ และลวดลายที่แปลกกว่าตุ๊กตาหมีตัวอื่นๆ วัสดุที่นำมาใช้ มีทั้งหนัง ผ้าสีพื้น และผ้าลวดลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แนวหวานๆ อย่างลายดอกไม้ ลาย สก็อตสีสันแสบตา หรือลายการ์ตูนที่ดูน่ารัก รวมถึงการเลือกใช้สีของผ้าตามเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลคริสมาสต์ เลือกใช้โทนสีแดง-เขียว หรือเทศกาลวาเลนไทน์จะเน้นลายหัวใจ และสีโทนแดง ชมพู
และเพื่อเพิ่มความหลากหลาย นภัทร มองไปถึงการใส่คอนเซ็ปต์ที่เน้นดีไซน์เข้าไป อย่างคอลเลคชั่นคนคุก, โจรสลัด หรือแดร็กคิวร่า เป็นตุ๊กตาหมีแนวอาร์ต ที่คิดว่าน่าจะโดนใจเด็กแนวพอสมควร นับเป็นอีกไอเดียแรงๆ ที่มีอยู่ในตุ๊กตาหมีแบรนด์ “โอ้ แบร์”
นอกจากตัวสินค้าที่เด่นในด้านดีไซน์แล้ว ไอเดียในการทำตลาดของตุ๊กตาหมี Oh! Bearก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน
“ตุ๊กตาหมี Oh! Bear ทำตลาดที่ต่างประเทศก่อน ตั้งเป้าไปที่ประเทศในแถบยุโรป และญี่ปุ่นเป็นหลัก ในลักษณะของดีลเลอร์ที่สั่งสินค้าไปขาย ผลตอบรับต้องถือว่าดีมากๆ ปีหนึ่งมีออเดอร์ประมาณ 5 ครั้ง จำนวนสั่งแต่ละครั้งหลายหมื่นตัว คิดเป็นมูลค่าครั้งละประมาณ 2 ล้านบาท ตรงนี้เป็นความตั้งใจอยู่ แล้วที่จะทำตลาดต่างประเทศก่อน ให้แบรนด์“โอ้ แบร์” เริ่มเป็นที่รู้จัก แล้วค่อยย้อนกลับมาทำตลาดในไทย เพราะมองว่าคนไทยไม่อินกับตุ๊กตาหมี อย่างมากก็ซื้อให้กันเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลต่างๆ ผิดกับประเทศในแถบยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่มีความผูกพันกับตุ๊กตาหมี เพราะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเล่นเด็ก จึงทำให้เกิดความคุ้นเคยได้ง่าย”
หลังจากทำตลาดในต่างประเทศได้สัก 2 ปี นภัทร เริ่มหันกลับมาทำตลาดในประเทศบ้าง โดยมองว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ชื่นชอบในงานดีไซน์เป็นหลัก โดยเลือกวางขายผ่านร้านค้าที่มีคอนเซ็ปต์ใกล้เคียงกับแบรนด์“โอ้ แบร์” เช่น สยามพารากอน, ดิ เอ็มโพเรียม, ZEN, และร้าน LOFT
“ต้องบอกว่าเราประสบความสำเร็จมากในตลาดต่างประเทศ แต่ตลาดในไทยกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อย่างแรกเลย คือ เรื่องยอดขายที่ไม่มากอย่างที่เราตั้งเป้าไว้ อย่างต่อมา มีปัญหาในเรื่องของระบบสต็อกสินค้า ทำให้ของหายค่อนข้างบ่อย
ในจุดนี้ถ้าเกิดยอดขาย เป็นไปตามเป้าเราก็อาจจะลงไปแก้ปัญหา เข้าไปจัดการกับเรื่องระบบ แต่ในเมื่อยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า เลยไม่ได้ลงไปจัดการตรงนั้น อีกทั้งการที่เราลงสินค้าหลายๆ จุด คนหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เลยกลายเป็น Mass ไป ซึ่งผิดกับความตั้งใจ ที่ต้องการให้สินค้าแต่ละรุ่นมีจำนวนจำกัด และไม่ค่อยซ้ำแบบ
ปัจจุบันนี้จึงถอนสินค้าตุ๊กตาหมี Oh! Bear ออกจากห้างสรรพสินค้าทั้งหมด แล้ววางขายในประเทศเฉพาะที่ร้านค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟี ของคิง พาวเวอร์ 2 สาขา คือ สาขาซอยรางน้ำ และสาขาสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งผลตอบรับในเรื่องยอดขายก็ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ตุ๊กตาหมีไม่ใช่ของจำเป็น แต่เป็นสิ่งของที่ให้กันด้วยใจ หรืออาจจะซื้อเพราะถูกใจในรูปแบบ ซึ่งคนๆ หนึ่ง ไม่น่าจะซื้อตุ๊กตาหมีเกิน 10 ครั้ง แต่นั่นหมายความว่า มันต้องเป็นของใหม่ หรือมีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาตลอด เพื่อให้เตะตาผู้ซื้อ
การที่เรานำตุ๊กตาหมี Oh! Bearมาวางขายใน ดิวตี้ฟี เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจที่ต้องเดินทางบ่อย ตุ๊กตาหมีโอ้ แบร์ จึงกลายเป็นของใหม่ตลอดเวลา นักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง ก็จะพบกับลวดลาย หรือรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งกระตุ้นการซื้อได้มากกว่า”
นอกจากวางขายในประเทศทั้ง 2 จุดแล้ว นภัทร ยังขยายช่องทางมายังกลุ่มลูกค้าองค์กร ที่สั่งทำเป็นของ พรีเมี่ยม อย่างเช่นเครื่องสำอางเอสเต ลอเดอร์, จอนห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมโตโรล่า และธนาคารไทยพาณิชย์ “อันนี้ คือ ความแข็งแรงของแบรนด์ ลูกค้าองค์กรใหญ่ๆ บอกเลยว่าที่เลือกเรา เพราะความเป็นโอ้ แบร์ เขาไม่ได้อยากได้แค่ตุ๊กตาหมี แต่เขาต้องการความเป็นแบรนด์ของเรา
ส่วนในตลาดต่างประเทศ มีประเทศในแถบยุโรปหลายรายที่ติดต่อเข้ามา ต้องการซื้อไลเซ่นส์ ตอนนี้ที่กำลังดีลกันอยู่ก็จะเป็นกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย อยากซื้อแบรนด์โอ้ แบร์ไปเปิดช็อปที่นั่น ภาพรวมที่มองไว้ เมื่อแบรนด์โอ้ แบร์มีความแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อยมันจะไม่ใช่แค่ตุ๊กตาหมี แต่สามารถต่อยอดออกไปได้ทุกอย่าง ทั้ง เครื่องเขียน กระเป๋า อุปกรณ์ในห้องน้ำ จะผลิตเป็นอะไรก็ได้ เพราะด้วยคาแร็คเตอร์ของแบรนด์ ที่สามารถนำไปดีไซน์ใช้กับผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง
ความคาดหวัง ก็คือ วันหนึ่งเราจะสามารถอยู่ได้อย่างสบายๆ จากการขายแบรนด์ ดูอย่างเครื่องดื่มโค้ก ขวดหนึ่งราคาแค่ 10 บาท แต่มูลค่าของแบรนด์มหาศาล หรืออย่างตุ๊กตามิกกี้เมาท์ ที่มีความเป็นมากว่า 100 ปี กลายเป็นแบรนด์คลาสสิคของโลก และยังเป็นต้นแบบให้เราในการทำธุรกิจด้วย
แต่กว่าจะไปถึงในจุดนั้น ต้องอาศัยการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง และต้องพัฒนาแบรนด์ต่อไปเรื่อยๆ ให้ แบรนด์เติบโตได้อย่างมั่นคง ในอนาคตตุ๊กตาแบรนด์โอ้ แบร์น่าจะไปได้สวย เพราะยังมีช่องทางให้เราแทรกเข้าไปได้อยู่ เพียงแต่ต้องศึกษาตลาดให้ดี เพราะแต่ละประเทศก็มีรายละเอียด และความชอบในดีไซน์ที่ต่างกันไป”
วันนี้ “ตุ๊กตาหมี Oh! Bear” กำลังไปได้สวยในต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เปิดตัวได้แค่ 4 ปีเท่านั้น
หากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าตุ๊กตาสัญชาติไทย ก็มีสิทธิเดินตามรอยเท้าตุ๊กตานอกชื่อดังอย่างมิกกี้เมาท์ได้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: นิตยสาร SMEs Plus
บทความที่เกี่ยวข้อง:>> Magicool ผ้าพันคอ และปกเสื้อคลายร้อน
>> “MOONICE” ไอศกรีมไม้ไผ่ เสิร์ฟพร้อมคอนเซ็ปต์ สยองขวัญ
>> IBSC โบรคเกอร์ ธุรกิจเครือข่ายประกันภัยอย่างมืออาชีพ
>> All Soul ขายของเก่าอิตาเลี่ยนสไตล์
>> โครงการแก้จน ปี 5 สานฝันคนอยากมีกิจการ สอนฟรี ไม่มีกั๊ก !!
>> 108 ไอเดีย Pakamian พลิกโฉมผ้าขาวม้าเป็นสินค้าทันสมัย ลายสก็อต
>> “ปาปารัสซี” มือดีฉีกแนวธุรกิจ บริการซุ่มเก็บภาพ “ขอแต่งงาน”>> 108 อาชีพแฟรนไชส์