“เมล่อน” ถือเป็นราชินีแห่งพืชตระกูลแตง โดยเมล่อนที่พบเห็นทั่วไป สามารถแบ่งชนิดของเมล่อนออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะของผล คือ
- หนึ่ง “ร็อคเมล่อน” เป็นเมล่อนที่มีลักษณะของเปลือกภายนอกแข็ง มีลายขรุขระเล็กน้อย
- สอง “เน็ตเมล่อน” เป็นเมล่อนที่มีลักษณะของเปลือกมีลายร่างแหแผ่คลุมเปลือกด้านนอกไว้
- สาม “เมล่อนผิวเรียบ” หรือที่นิยมเรียกกันว่า แคนตาลูป
ส่วนรูปแบบการปลูกเมล่อน หรือ แคนตาลูป ที่นิยมปลูกในบ้านเรานั้นมี 3 แบบ คือ ปลูกในถุง (มีค้าง), ปลูกในแปลง (มีค้าง), และปลูกบนดิน (ไม่ต้องมีค้าง ปล่อยให้เลื้อยไปบนพื้นดิน)
เมล่อน หรือแคนตาลูปนั้น ถือเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าสูง แต่ก็เป็นพืชที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด มีโรคและแมลงศัตรูคอยทำลายทุกระยะของการเจริญเติบโต
ด้วยเป็นพืชอายุสั้น สามารถทำเงินได้เร็วสำหรับเกษตรกรผู้ปลูก ทำให้เกษตรกรมือใหม่จำนวนมากให้ความสนใจ แต่ใช่ว่าจะประสบผลสำเร็จกันทุกรายไป การปลูกเมล่อนนั้น ต้องมีความรู้ในการปลูกและการดูแลเสียก่อน และที่สำคัญคือ การเอาใจใส่ดูแลรักษา
คุณสถิตย์ ศรีใส บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 9 ตำบลวังศาล อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. (096) 079-6219 ชายหนุ่มที่จบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเกษตรศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นสาขาที่เรียนมาทางด้านตัดแต่งพันธุกรรมพืช แต่มีความสนใจที่จะปลูกเมล่อน แม้จะไม่ได้จบมาทางด้านพืชสวนโดยตรง ปัจจุบันถือได้ว่า ชายผู้นี้เป็นคนหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกเมล่อนระดับแนวหน้าของประเทศ
คุณสถิตย์ เริ่มจากกู้เงินมาลงทุน เป็นหนี้นับล้านบาท เพียง 1 ปีเศษ ก็สามารถปลดหนี้ได้จากการปลูกเมล่อนในโรงเรือง เพียง 10 โรงเรือน โดยใช้แรงงานเพียงตนเอง และคุณพ่อ คุณแม่ เท่านั้น แต่มีรายได้ต่อเดือน เฉลี่ย 100,000 บาท
คุณสถิตย์ เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า รู้จักเมล่อนจากการที่มีโอกาสไปฝึกงานสมัยเรียนตอนปี 4 ที่สวนเมล่อนไฮโดรกรีนฟาร์ม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ฝึกงานอยู่ที่นั่น ราว 4 เดือน ก็ได้เรียนรู้การปลูกเมล่อนมาจากที่นั้น ซึ่งจุดประกายความคิดที่อยากจะปลูกเมล่อนให้กับตนเอง
หลังเรียนจบ ก็คิดจะมาต่อยอดความรู้ที่ได้มาจากการฝึกงานในครั้งนั้น จบมาก็มาช่วยที่บ้านทำนา และปลูกผักทั่วไป ราว 2 เดือนได้ ต่อมาก็มีรุ่นพี่ที่เคยทำงานที่สวนเมล่อนไฮโดรกรีนฟาร์ม ออกจากงานมาชักชวน
“ตนเองที่ยังว่างงานอยู่ ไปขายปุ๋ย ขายยา ตนเองก็ลองไปทำดู ทำได้เพียงเดือนเดียวก็ขอลาออก เพราะคิดว่าตนเองไม่ชอบ และรุ่นพี่คนเดิมก็ได้ลาออกมาพร้อมกัน ซึ่งตัวรุ่นพี่เองก็มีทุนอยู่ก้อนหนึ่ง รุ่นพี่ก็มาทำโรงเรือนปลูกเมล่อนก่อนตนเองสัก 1 ปี ตนเองก็สนใจที่อยากจะทำโรงเรือนปลูกเมล่อนบ้างเหมือนกัน ในช่วงนั้นก็พยายามขอเงินทุนจากทางบ้าน”
ซึ่งทางบ้านก็เห็นใจ เห็นว่ามีความตั้งใจ ก็ได้ให้เงินทุนก้อนแรกมา 200,000 บาท ซึ่งคุณสถิตย์ คิดว่าคงจะพอ แต่พอเอาเข้าจริงๆ เงินจำนวนดังกล่าวนั้น เอามาปรับพื้นที่และเจาะน้ำก็หมดแล้ว ยังไม่ได้ปลูกเมล่อนเลย ก็ปรึกษาทางบ้านเพื่อจะขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพิ่ม โดยกู้เพิ่มอีก 400,000 บาท มาซื้อเหล็ก และระบบน้ำก็สร้างโรงเรือนได้แค่ 2 โรงเรือน เท่านั้น
“ผมมาคิดดูว่า ถ้าปลูกเมล่อนเพียงแค่ 2 โรง คงเสียเวลา ผลผลิตคงไม่มีปริมาณพอที่จะป้อนตลาด และคงไม่คืนทุนในเวลาอันสั้นเป็นแน่ จึงปรึกษาทางบ้าน ทางบ้านก็ให้เงินมาอีกก้อนหนึ่ง ราวๆ 300,000 บาท เพื่อจะขยายจำนวนโรงเรือน ให้เป็น 5 โรง พอปลูกเมล่อนได้สัก 6 เดือน ก็สามารถส่งตัวเองได้ มีรายได้เข้ามาจากการขายผลผลิต ก็ขยายเพิ่มอีก 5 โรง เป็น 10 โรงเรือน”
เหตุผลการขยายโรงเรือน จาก 5 โรงเรือน เป็น 10 โรงเรือน นั้น คุณสถิตย์บอกว่า ถ้าปลูกเพียง 5 โรงเรือน การเติบโตของสวนจะช้า แต่ถ้ามี 10 โรงเรือน การเติบโตของสวนจะเร็วขึ้น มีโอกาสคืนทุนเร็วขึ้นนั้นเอง และสิ่งสำคัญที่คุณสถิตย์มั่นใจคือ เรื่องของตลาดและราคาประกัน
“ที่เรามีเครือข่าย ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ทำตลาดไว้ให้ จัดการเรื่องของระบบการปลูก และการตลาดให้ ทำให้ตนเองมั่นใจมากที่กล้าที่จะลงทุนเพิ่ม จากที่ตนเองปลูกเมล่อนมา 2 ปี ยังมองว่าตลาดเมล่อนยังไปอีกไกลมาก และราคาดีมาโดยตลอด”
คุณสถิตย์ กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้อาจจะมองว่า มีคนปลูกกันมาก ที่ไหนก็ปลูกเมล่อนกัน แต่คนที่จะประสบความสำเร็จนั้น ถือว่ายังมีน้อยมาก การปลูกเมล่อนในโรงเรือนนั้น เกษตรกรเห็นคนอื่นทำแล้วดี ก็ทำตามกัน แต่ยังขาดความรู้เรื่องการปลูกเมล่อน ซึ่งจริงแล้ว พืชอย่างเมล่อน ถือเป็นพืชปราบเซียนอย่างหนึ่งของพืชตระกูลแตง
ถ้าปลูกแบบไม่มีความรู้เลยนั้น จัดการโรงเรือนไม่เป็น โอกาสขาดทุนเสียหายมากเช่นกัน อย่างที่ทราบ แม้เมล่อนนั้นจะเป็นพืชอายุสั้น ต้องการดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างมาก
อย่างตัวคุณสถิตย์เอง ใช้เวลาตรวจแปลง 3 เวลา ต่อวัน คือ เช้า ตั้งแต่ 06.00 น. -กลางวัน-เย็น ในทุกๆ วัน ซึ่งคุณสถิตย์ จะต้องเดินดูทุกต้นเมล่อน เพื่อสำรวจว่ามีโรคหรือแมลงทำลายบ้างหรือไม่ เพื่อจะหาทางป้องกันและแก้ไขได้ทันเวลา
“ยกตัวอย่าง เราเห็นเพลี้ยไฟ 1 ตัว หากเกิดการทำลายขึ้น คิดเสียว่าเราต้องถอนต้นเมล่อนทิ้ง 1 ต้น ก็ทิ้งผลเมล่อนไป 1 ผล ซึ่ง 1 ผล ก็ราคาร้อยกว่าบาทแล้ว เราคิดอย่างนั้นเราก็จะเสียดาย” คุณสถิตย์ กล่าว
ลงทุนระยะยาว 1,500,000 บาท โรงเรือน 10 โรง
“อย่างตัวผมเป็นหนี้ หรือลงทุนไปเกือบ 1,500,000 บาท โดยมีโรงเรือน 10 โรงเรือน ถ้า 1 ปีเศษ ผมทำได้ก็ถือว่าผมได้ทุนคืน ส่วนปีต่อๆ ไป ก็ถือว่าเป็นกำไรของผม เพราะโรงเรือนถือว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ระยะยาวนับสิบปี ซึ่งผมก็สามารถทำได้ ปลดหนี้หมดภายในเวลาปีเศษเท่านั้น”
“แต่ถ้าหากเล่าย้อนกลับไปแรกๆ ในการทำเมล่อนของตนเอง เป็นช่วงเวลาที่ยาก และลำบากมาก คุณแม่แทบจะไม่คุยกับผมเลย เพราะคุณแม่คงกังวลและเป็นห่วงผม เพราะเห็นว่าลงทุนสูงมาก เห็นว่าเราเองก็เพิ่งเรียนจบมาใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ และมีความกดดันค่อนข้างสูงจากสังคมรอบด้าน เพราะเรามาปลูกเมล่อนบนพื้นที่ที่ไม่มีคนทำมาก่อน เป็นพืชใหม่สำหรับคนที่นี่ และดินที่นี่จะเป็นหินเสียมากกว่าดินด้วยซ้ำ แค่ปลูกต้นไม้ทั่วไปก็ยังไม่ค่อยจะโตแล้ว ซึ่งคนรอบข้างเขาไม่เข้าใจว่านั้นจะปลูกพืชในโรงเรือน ไม่ได้ปลูกบนดิน” คุณสถิตย์ กล่าว
ส่วนตัวคุณสถิตย์เอง ก็อยากพิสูจน์ให้เขาเห็นด้วย ในช่วงแรกๆ ของการเริ่มต้น ผมไม่มีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว ในช่วงที่รอผลผลิต ถึงขนาดต้องหาเก็บผักตามรั้ว ไปหาปลาตามหนองน้ำ กินข้าวกับพริกป่นบ้าง
“ในตอนนั้นเป็นช่วงที่จะพิสูจน์ตัวเองด้วย จึงไม่อยากรบกวนทางบ้านมากนัก แต่เมื่อผลผลิตเมล่อนรุ่นแรกได้ขาย ตอนนั้นก็ถือว่าเกินคาดเหมือนกัน อย่างผลผลิตเมล่อนของรุ่นพี่ผมขายต่อโรงเรือน จะได้เงินราว 30,000-35,000 บาท แต่ของผมที่โรงเรือนเล็กกว่า และจำนวนต้นน้อยกว่า แต่ตอนนั้นผมขายได้ราคาถึง 42,000 บาท ต่อโรงเรือน”
นั่นจึงทำให้ครอบครัวของคุณสถิตย์ยิ้มได้ ที่มองเห็นเงินแสนจากการขายเมล่อน ถ้าหักค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อการปลูกเมล่อนต่อรุ่น ต่อโรงเรือน นั้น หักแบบเยอะๆ แบบเต็มที่เลย คือ 10,000 บาท ที่เหลือก็คือกำไร ต่อรุ่น ต่อโรงเรือน ระยะเวลา 75-80 วัน เท่านั้น
“อย่างตอนนี้ผมมีโรงเรือนปลูกเมล่อน 10 โรงเรือน โดยต่อเดือนผมจะวางแผนให้มีผลผลิตเก็บ 4 โรงเรือน รายได้ผมจะมีเข้ามาต่อเดือน โรงเรือนละ 30,000-35,000 บาท ซึ่งหักต้นทุน หักผลผลิตเสียหายแล้ว ซึ่ง 4 โรงเรือน ก็จะได้เงินต่อเดือน ราว 120,000 บาท” คุณสถิตย์ กล่าว
ปลูกเมล่อน 500 ต้น ต่อโรงเรือน
ในการปลูกเมล่อน คุณสถิตย์ กล่าวว่า โดยจะปลูก 4 แถว ซึ่งปลูก 1 แถว จะเรียงถุงปลูกได้ 125 ต้น โดยก่อนหน้านี้ ได้ใช้ระยะปลูก 5 แถว ซึ่งดูแล้วบังแสงแดดกัน เลยปรับเปลี่ยนให้เป็น 4 แถวปลูก
ถุงปลูก ใช้ถุงสีขาว ขนาด 24x30 เซนติเมตร เมื่อเรียงถุงแบบชิดกัน จะได้ระยะปลูกระหว่างต้น ราว 25 เซนติเมตร การเลือกใช้ถุงปลูกแบบสีขาว คุณสถิตย์ บอกว่า หลายท่านคงสงสัย เพราะปกติจะเห็นถุงปลูกจะมีสีดำ หรือเรามักเรียกถุงดำ สาเหตุที่เลือกใช้ถุงปลูกสีขาว เพราะสีขาวจะไม่ดูดซับความร้อนมากเหมือนถุงสีดำ การที่ถุงดำมีความร้อนมากๆ ก็จะส่งผลทำลายรากของเมล่อนที่ค่อนข้างบอบบาง ลักษณะจะเหมือนรากเมล่อนโดนน้ำร้อนลวก ส่งผลต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะยิ่งหน้าร้อน อากาศร้อนมากๆ ระบบรากเมล่อนที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบเป็นส่วนใหญ่ จะเสียหายเน่าอย่างชัดเจนเลย
“แต่ถุงสีขาวก็ยังมีปัญหาความร้อนบ้างเหมือนกัน เราก็อาศัยประสบการณ์ เจาะรูถุงให้มากขึ้น เจาะรูด้านล่างและด้านข้าง เพื่อให้ระบายน้ำ ระบายความร้อนได้ดีขึ้น อากาศถ่ายเทได้ดี และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้ราก และเราต้องช่วยลดอุณหภูมิให้ถุงปลูก ให้ความร้อนของแกลบดำ หรือแกลบเผาที่เราใช้เป็นวัสดุปลูกล้วนๆ ให้ไม่ร้อนจนเกินไป ด้วย แล้วการจัดวางถุงในตำแหน่งที่ต้องการปลูกให้แน่นอน หลังจากลงมือปลูกต้นกล้าแล้ว ไม่ควรย้ายตำแหน่งการวางถุงอีกเด็ดขาด เพราะการย้ายถุงอาจกระทบกระเทือนรากหรือเถาได้”
ควบคุมความชื้น สำคัญมาก
การควบคุมความชื้น หรือการควบคุมการให้น้ำ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คุณสถิตย์ให้ข้อมูลว่า เมล่อน ชอบความชื้นในดินสูง ถ้าขาดน้ำ หรือน้ำไม่พอ และถ้าน้ำมากเกินไป หรือแฉะ ต้นจะชะงักการเจริญเติบโต
การให้ด้วยระบบน้ำหยด ซึ่งจะทำให้ดินปลูกชุ่มชื้นตลอดเวลา จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยอุปกรณ์ระบบน้ำ เช่น สายยางที่ใช้เสร็จทุกครั้ง สายยางและหัวน้ำ จะต้องเอามาตากแดด เพราะเมื่อสายยางและหัวน้ำแห้ง ก็จะเอามาเคาะเศษผงสนิมออก เพื่อไม่ให้หัวน้ำและสายยางตัน เนื่องจากน้ำที่ฟาร์ม จะเป็นน้ำสนิมแดง
“อีกวิธี ทุกครั้งที่จะเริ่มการเพาะปลูกใหม่ คุณสถิตย์จะใช้กรดไนตริก หรือ กรดดินประสิว ซึ่งเป็นกรดแก่ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้ดี จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์มากในทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อ รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก"
คุณสถิตย์ จะปล่อยกรดไนตริก เข้าระบบน้ำเพื่อล้างขี้ตะไคร่ เศษผงสนิมที่อุดตันระบบน้ำ ก่อนทำการเพาะปลูกทุกครั้ง ทั้งนี้ เพราะถ้าระบบน้ำตัน ก็ส่งผลต่อเมล่อนในการรับปุ๋ย รับน้ำที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้คุณภาพผล เช่น ขนาดผล ความหวาน ไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
สำหรับสายพันธุ์เมล่อนที่คุณสถิตย์ปลูก มี 2 สายพันธุ์หลัก คือ
หนึ่ง สายพันธุ์เนื้อสีส้ม พันธุ์ “พอท ออเร้นจ์” อายุสั้น แม้การต้านทานต่อโรคต่ำ แต่ถ้ามีการจัดการที่ดี พันธุ์นี้จะให้ผลผลิตต่อต้น หรือต่อไร่สูง น้ำหนักผลดี รสชาติดีมาก คุณภาพความหวานสูง เนื้อนิ่ม และกลิ่นหอม ถูกปากคนรับประทาน
“ตลาดชอบพันธุ์นี้ถ้าเป็นเนื้อสีส้ม อีกอย่างด้วยกระแสเนื้อสีส้ม คนที่ทานเนื้อสีเขียวบ่อยๆ ก็อยากทดลองทานเมล่อนเนื้อสีส้มบ้าง ที่ฟาร์มจึงต้องผลิตเมล่อน 2 สี เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด” คุณสถิตย์ กล่าว
สอง เนื้อสีเขียว พันธุ์ “กรีนเนต” ที่โดดเด่นเรื่องรสชาติหวานจัด เนื้อกรอบ และมีกลิ่นหอม โดยสายพันธุ์ พอท ออเร้นจ์ และ กรีนเนต จะมีตาข่ายที่ผิว ทั้ง 2 สายพันธุ์
“ส่วนเรื่องของเมล็ดพันธุ์เมล่อน ก็เป็นเมล็ดนำเข้า ที่ทางอาจารย์ที่เป็นคนจัดการในเรื่องของการตลาด จะเป็นคนจัดหาเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยมาให้ เครือข่ายลูกไร่ โดยเมล็ดพันธุ์ตอนนี้ ราคาอยู่ที่ 7-10 บาท ต่อเมล็ด” คุณสถิตย์ กล่าวทิ้งท้าย
ไปหน้าแรก อาชีพเกษตรทำเงิน
ที่มา matichon.co.th