ไอศกรีม One More (วัน มอร์) สร้างโอกาสทางการตลาดจากการคิดค้นสูตรใหม่ ๆ
ธุรกิจร้านไอศกรีมโดยเฉพาะไอศกรีมโฮมเมด กำลังได้รับความสนใจของผู้ประกอบอาชีพเสริมและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ที่ต้องฉีกตัวจากธุรกิจร้านกาแฟและธุรกิจเบเกอรี่มีคู่แข่งในตลาดหลายราย ตัวอย่างกรณีของ One More (วัน มอร์) สร้างโอกาสทางการตลาดจากการคิดค้นสูตรใหม่ๆ ด้วยวัตถุดิบที่น้อยคนจะคาดคิด และไม่เคยคาดหวังว่าจะได้ทาน เปิดประสบการณ์แปลกใหม่มาพร้อมรสชาติกลมกล่อม
รสชาติสร้างประสบการณ์
จุดเริ่มต้นของ One More มาจากปัญจรัตน์ และ นวรัตน์ วงศ์นภาพรรณ สองพี่น้องผู้มีความฝันอยากมีธุรกิจของตัวเอง กระทั่งตัดสินใจลาออกจากงานประจำ หันมาเปิดร้านขายไอศกรีม เริ่มต้นจากไอศกรีมรสชาติพื้นฐานทั่วไป ขายได้ต่อวันเพียงไม่กี่ถ้วย แต่หลังจากที่คลิกไอเดียทดลองนำร่องไอศกรีมมะยมโรยพริกเกลือ ตามด้วยผงบ๊วย น้ำปลาหวาน น้ำปลาหวานกะปิ น้ำตาลปี๊บและน้ำผึ้ง กลายเป็นบันไดสำคัญช่วยผลักดันให้กิจการติดลมบนมาถึงปัจจุบัน
การใช้ผลไม้ไทยสามารถสร้างความโดดเด่น แถมยังช่วยเรื่องต้นทุนและมีรสชาติไอศกรีมที่หลากหลาย เป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการขยายฐานลูกค้าตั้งแต่เด็กไปถึงผู้สูงอายุที่ชื่นชอบไอศกรีม ส่วนรสชาติต่างๆ ที่ผลิตขึ้นมานั้น นอกจากเกิดจากไอเดียของสองสาวแล้ว ยังมาจากการทำตามข้อเสนอแนะของลูกค้า
"คอมเม้นท์หลายๆ เรื่องของลูกค้าทำให้เราอยู่มาถึงวันนี้ เรานึกขอบคุณลูกค้าตลอด ไอศกรีมหลายๆ รสที่ขายดีในวันนี้ก็เพราะลูกค้าช่วยกันติช่วยกันชม แต่หลายรสที่ลูกค้าแนะนำ เช่น บีทรูท เคยทำลองทำแล้วมีคนชอบน้อยมาก เราก็ทำออกมาไม่ได้"
ขณะเดียวกัน สองสาวนักคิดยังรังสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ด้วยการต่อยอดจากของเดิม คือการนำหม้อดินแบบโบราณมาใส่ท๊อปปิ้งและเพิ่มความหลากหลาย อาทิ ฝรั่งโรยบ๊วย มะดัน เสาวรส มะม่วงน้ำปลาหวาน บัวลอย ส้มตำไข่เค็ม ฯลฯ จากเดิมที่มีแค่มะยมพริกเกลือ เป้าหมายของการนำ "หม้อดินโบราณ" มาจัดวางคู่กับตู้ไอศกรีมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นภาพที่ขัดกันและใช้กับการออกงานแฟร์ ก็เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เดินเข้ามาหาจะได้มีโอกาสพูดคุย และนำไปสู่การทดลองชิมสินค้า โดยไม่ต้องใช้สื่อโฆษณา แต่ใช้วิธีการบอกต่อปากต่อปากแม้ว่าท้ายที่สุดจะไม่ชอบในรสชาติหรือท๊อปปิ้งที่ใส่ก็ตาม แต่ก็สร้างให้เกิดประสบการณ์และการจดจำ
การวางตำแหน่งสินค้าไว้ที่ระดับพรีเมียม มุ่งกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนเพราะต้นทุนสูงโดยเฉพาะวัตถุดิบที่ใช้อย่างเข้มข้น แต่ราคาที่ตั้งไว้ระดับ 30-35 บาทต่อถ้วย ซึ่งไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพและความแปลกใหม่ที่นำเสนอ เพื่อต้องการให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า
ปัจจุบันไอศกรีมวันมอร์มีรสชาติที่ขายได้เตรียมไว้ 50 รสชาติ โดยมีรสชาติที่ขายดีกว่า 30 รสชาติ แต่ก็ยังมุ่งสร้างสรรค์รสชาติและการนำเสนอแบบใหม่ๆ เป็นจุดขายที่โดดเด่นและแตกต่างอยู่ตลอด เช่น ล่าสุดกำลังทดลองสินค้ากลุ่มขนมไทย เช่น ไอศกรีมกล้วยบวชชี และจะใช้ใบตองเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อฉีกแนวจากเดิมและสร้างความสนุกให้ผู้บริโภค
ขยายพื้นที่ผ่านธุรกิจแฟรนไชส์
ไอเดียที่แตกต่างส่งผลให้ One More เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการติดต่อเจรจาขอซื้อสูตรและซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 30 สาขากระจายอยู่ในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ
"กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้บริโภคที่ชอบลองของใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน ส่วนคู่ค้าที่ทำแฟรนไชส์จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง จากประสบการณ์สามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 1-2 เดือนโดยใช้งบการลงทุนขั้นต่ำ 2.5 หมื่นบาท"
อนาคตของไอศกรีมวันมอร์วางไว้ คือการขยายตลาดออกไปต่างประเทศรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซีในปี 2558 จึงให้ความสำคัญกับการลงทุนขยายกำลังการผลิต ด้วยการสร้างโรงงานให้ได้มาตรฐานรวมทั้งการพัฒนาและวิจัยรูปแบบของการพัฒนารูปแบบของไอศกรีมสำหรับส่งออก โดยอยู่ระหว่างการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการขนส่ง แต่ยังคงรสชาติเหมือนกับไอศกรีมสดที่จัดจำหน่ายในประเทศ คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี
ไปหน้าแรก อาชีพเสริมอาชีพอิสระ
อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ