จากปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้หลายคนหันมาเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวเป็นจำนวนมากขึ้น บุคคลส่วนหนึ่งคิดที่จะเริ่มต้นธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) ซึ่งมีทั้งของคนไทยต่างประเทศ ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการนิยมประกอบธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ (Franchise) มากขึ้น ทั้งเป็นผู้ให้สิทธิ์ (Franchisor) และผู้รับสิทธิ์ (Franchisee) และมีแนวโน้มว่าในอนาคตธุรกิจด้านนี้จะมีการขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ
มีคำกล่าวว่า “ถ้าเริ่มธุรกิจด้วยตัวเอง โอกาสประสบความสำเร็จมี 20% ถ้าซื้อกิจการมาดำเนินงานต่อ โอกาสประสบความสำเร็จมี 50% แต่ถ้าซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) โอกาสประสบความสำเร็จมีถึง 80%” หลายๆ คนเข้าใจว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) นั้นหากใครได้ไปดำเนินธุรกิจแล้ว ก็จะประสบความสำเร็จทุกรายไป แต่อย่าลืมว่าโอกาสที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นยังมีอยู่ถึง 20% เพราะบางแฟรนไชส์ (Franchise) ก็ไม่ใช่ธุรกิจสำเร็จรูปที่ผู้ประกอบการจะประสบความสำเร็จเสมอไป เนื่องจากมีหลายธุรกิจเรียกตัวเองว่า “แฟรนไชส์ (Franchise)” แต่ดำเนินการโดยขาดระบบและความรู้ ดังนั้นเราควรที่จะต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจกับระบบแฟรนไชส์ (Franchise) รวมถึงธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนเสียก่อน จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง
►อันดับแรกทำการตรวจสอบตัวเอง
ว่ามีความเหมาะสมกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) มากน้อยเพียงใด และพร้อมหรือไม่เพราะนอกจากจะต้องมีเงินลงทุนเป็นพื้นฐานแล้ว คุณควรจะมีคุณสมบัติ ด้านความรู้ ทักษะหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ มีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ เป็นผู้ที่มีความอดทนและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งจะต้องมีความอดทนต่อภาวะความเครียดและแรงกดดันต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ควรที่จะมีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับระบบแฟรนไชส์ (Franchise) และธุรกิจที่จะลงทุนให้ละเอียด ทั้งเงื่อนไขและสัญญา เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) เป็นการเข้าร่วมธุรกิจระหว่างบุคคลสองฝ่าย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงและมีการเรียนรู้อยู่เสมอ รวมถึงการเข้าร่วมอบรมเพื่อทำความเข้าธุรกิจ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมได้
►อันดับสองตรวจสอบแฟรนไชส์ที่เลือก โดยพิจารณาจาก
- แฟรนไชส์ (Franchise) ควรมีประสบการในการดำเนินธุรกิจของตนเองพอสมควร
- มีจำนวนสาขาที่มากพอจนเป็นที่รู้จัก เป็นแฟรนไชส์ (Franchise) ที่เป็นที่นิยมและยอมรับของผู้บริโภค
- สินค้าหรือบริการต้องมีจุดเด่นหรือมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage)
- ธุรกิจมีแนวโน้มการเจริญเติบโตในอนาคต
- ธุรกิจมีการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา
- มีการถ่ายทอดความรู้หรือ Know-How ที่เป็นระบบ สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่าย
- มีตัวอย่างของความสำเร็จในรูปของผลกำไรแสดงให้เห็น ไม่ใช่ดูจากจำนวนสาขาเพียงอย่างเดียว
- มีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมและมีการกำหนดเขตการขายของแฟรนไชซี( Franchisee )ไว้อย่างชัดเจน
- มีข้อมูลที่ได้พูดคุยกับ แฟรนไชซี( Franchisee )รายอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ
- มีการตรวจสอบในรายละเอียดและข้อตกลง รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาอย่างรอบคอบ
เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise)ไม่ใช่ธุรกิจสูตรสำเร็จในการดำเนินธุรกิจสำหรับทุกคนเสมอไป การซื้อกิจการที่ประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียง ก็มิได้หมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับรายอื่นๆ ดังนั้น ถ้าหากคุณปราศจากการศึกษา วางแผนและค้นหาข้อมูลที่เพียงพอโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในธุรกิจก็มีได้เช่นกัน