อาหารทานเล่นจำพวก “ของทอด” ส่วนใหญ่แล้วการทำไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ขายได้ ยิ่งช่วงเทศกาลถือศีลกินเจด้วยแล้ว บางร้าน “ทอดขายกันแทบไม่ทัน” ซึ่งมีอะไรที่น่าสนใจในเชิงอาชีพกับความง่ายของการทำอาหารจำพวกนี้ขาย? วันนี้เรามีสูตร-ข้อมูลมานำเสนอ
ทิพย์ สุขดี หรือ ป้าทิพย์ อายุ 50 ปี เป็นเจ้าของร้าน เต้าหู้ทอด สามย่าน ซึ่งทอดขายมานาน 30 ปีแล้ว โดยเจ้าตัวเล่าว่า เริ่มต้นอาชีพนี้ด้วยการช่วยน้องสามีขายที่ย่านศาลาแดง ต่อมาเขาเลิกขาย ก็เลยขายเอง แต่ทำเลที่เดิมค่าเช่าแพงขึ้น ลูกชายจึงหาที่ใหม่ให้เมื่อปี 2542 ก็ทอดขายมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันก็ 8 ปีมาแล้ว
สูตรทุกอย่างป้าทิพย์บอกว่า อาศัยจากประสบการณ์ที่ได้ช่วงที่ช่วยน้องสามีอยู่ และเมื่อมาเปิดร้านของตนเอง ก็ดัดแปลงจนเป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง จนมีลูกค้าประจำติดใจในรสชาติจนถึงทุกวันนี้
นอกจากที่ร้านนี้จะขายเต้าหู้ทอดเป็นตัวชูโรงแล้ว ก็ยังมี เผือกทอด, หัวไชเท้าทอด, ข้าวโพดทอด, เปาะเปี๊ยะทอด ขายด้วย เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า เพื่อไม่ให้สินค้าซ้ำซากจำเจ
กับขั้นตอนการทำ เริ่มที่ “เต้าหู้ทอด” ก็ไม่ยาก แค่ไปสั่งซื้อเต้าหู้จากตลาด ซึ่งเต้าหู้ที่ใช้ประจำนั้นจะเป็น “เต้าหู้เหลือง” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “เต้าหู้กระดาน” ราคากระดานละ 90 บาท แต่ละวันจะใช้ประมาณ 4-5 กระดาน นำมาตัดเป็นชิ้น ๆ ขนาดยาวประมาณ 3 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว เตรียมไว้
สำหรับของทอดชนิดอื่น ๆ ป้าทิพย์บอกว่า ถ้าเป็นเผือก และข้าวโพด ใช้ประมาณวันละ 7 กิโลกรัม ส่วนหัวไชเท้า ใช้วันละ 5 กิโลกรัม ขณะที่เปาะเปี๊ยะนั้นไม่ได้ทำเอง ซื้อแบบทำสำเร็จรูปที่พร้อมทอดขายได้เลยมาใช้
ขั้นตอนการทำ ถ้าเป็นเผือกก็ปอกเปลือกให้เรียบร้อย ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นบั้งเผือกตามแนวขวางรอบ ๆ โดยเผือก 1 หัว บั้งประมาณ 8-9 วง แล้วก็จะใช้ที่ขูดทำการขูดเผือกเป็นเส้น ๆ หากเป็นหัวไชเท้าก็ใช้ที่ไส (คล้ายที่ไสน้ำแข็ง) ไสไปเรื่อย ๆ จนหมดหัว ขณะที่ข้าวโพดดิบนั้นก็ให้ฝานตามฝัก
เต้าหู้ แค่ตัดเป็นชิ้นก็เตรียมทอดได้ ส่วนเผือก หัวไชเท้า และข้าวโพด ต้องผสมแป้ง เกลือ และน้ำด้วย
ขั้นตอนผสมแป้งนั้น ถ้าผสมครั้งละ 1 กะละมังย่อม ๆ ผสมแป้งหมี่ 1 กิโลกรัม ผงฟู (เพื่อให้กรอบ) 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือ (เพิ่มรสเค็ม) อีก 1 ช้อนชา คลุกเคล้าให้เข้ากัน ระหว่างที่คลุกนั้นให้ผสมน้ำลงไปด้วย ในปริมาณที่พอดี ๆ อย่าให้เละเกินไป และไม่ข้นจนเกินไป
สำหรับการทอด ตั้งน้ำมันพืชค่อนกระทะ เมื่อน้ำมันร้อนก็ค่อย ๆ หย่อนของที่จะทอดลงไป (เต้าหู้ใส่ลงไปได้เลย ส่วนของอื่น ๆ แบ่งชิ้นด้วยการตักทีละ 1 ช้อนโต๊ะ)
เมื่อใส่ของที่จะทอดลงกระทะแล้ว รีบเร่งไฟให้แรงขึ้นทันที เพื่อที่ของทอดนั้น ๆ จะไม่อมน้ำมัน ใช้เวลาทอดประมาณ 10 นาที ของทอดก็จะเหลือง กรอบ ส่งกลิ่นหอมไปทั่ว ก็นำขึ้นมาพักให้สะเด็ดน้ำมัน รอขายของทอดที่ร้านป้าทิพย์ทุกอย่าง จะขายในราคา 8 ชิ้น 20 บาท
“ของทอดจะอร่อยไม่ได้ ถ้าขาดน้ำจิ้มที่อร่อยด้วย” ป้าทิพย์บอก ดังนั้น สูตรเด็ดจริง ๆ ของร้านป้าทิพย์ที่ไม่เหมือนใครก็คือ “น้ำจิ้ม” นั่นเอง
ขั้นตอนการทำน้ำจิ้ม แยกทำเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ นำพริกขี้หนูแดงสดมาปั่นให้ละเอียด เมื่อปั่นเสร็จแล้วให้ใส่เกลือลงไปด้วยเล็กน้อย แล้วใส่ถุงแช่เย็นเอาไว้ แล้วค่อย ๆ ทยอยเอาออกมาทำน้ำจิ้มขาย ซึ่งในแต่ละวันป้าทิพย์จะใช้พริกขี้หนูแดงประมาณ 1 กิโลกรัม
ส่วนที่สองคือ การทำน้ำเหนียว ซึ่งเหมือนกับการทำน้ำเชื่อม โดยเคี่ยวน้ำตาลทรายในสัดส่วน 15 กิโลกรัม ต่อน้ำเปล่า 2 ขัน จากนั้นเคี่ยวให้เหนียว พอใช้ได้แล้วก็ใส่บ๊วยลงไปประมาณ 1 ถุง (ถุงละ 60 บาท)
น้ำจิ้ม 1 ถุงสำหรับขายของทอด 1 ชุด จะประกอบด้วยน้ำเหนียวประมาณ 1 กระบวยครึ่ง พริกปั่น 1 ช้อนชา ถั่วบด เกลือเล็กน้อย และโรยหน้าด้วยผักชี
“ของที่ใช้จะต้องสด ๆ ใหม่ ๆ คือทำไปขายไป ไม่ขายของค้างคืน” คืออีกหนึ่งเคล็ดลับของป้าทิพย์
ใครสนใจที่จะไปลิ้มลองรสชาติสารพัด “ของทอด” สูตรป้าทิพย์ ร้านนี้อยู่ใกล้ป้ายรถเมล์ หน้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น บริเวณแยกสามย่าน ฝั่งถนนพระราม 1 ขายตั้งแต่เวลา 07.00 - 17.00 น.
และนี่ก็คือ “ช่องทางทำกิน” หรืออาชีพเสริมง่าย ๆ อีกช่องทางหนึ่ง ที่ถึงแม้จะเป็นแค่ “ของทอด” ที่อาจจะดูเป็นสินค้าพื้น ๆ แต่ถ้าฝึกทำจนคล่องแคล่ว ทอดออกมาได้อร่อยอย่างป้าทิพย์คนนี้ ก็สามารถสร้างรายได้ไม่เลวเลยทีเดียว!
ที่มา: http://women.sanook.com/work/108jobs/108jobs_40423.php
Tag :
108 อาหารพารวย
,
หมวดอาหาร