“วิสาหกิจชุมชนหัวบึง” แบรนด์ผ้าทอพื้นเมือง จ.อุดรฯ โชว์เทคนิคเด่น เพ้นต์+หมักโคลน
จากไอเดียที่เริ่มต้นเพียงแค่ต้องการสืบสานวัฒนธรรมแต่ในที่สุดไอเดียนั้น ๆ ก็ได้ต่อยอดสู่การสร้างเป็นอาชีพอย่างถาวร จนเกิดการตั้งกลุ่มหัตถกรรมผ้าพื้นเมืองขึ้นภายในหมู่บ้าน หนึ่งในตัวอย่างธุรกิจที่ค่อย ๆ ก้าวเดิน จนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในตลาดอย่างมั่นคงจนถึงทุกวันนี้
ที่กล่าวไปนั้นคือ คุณเฉลิมชัย ไชยวงศ์ ประธานกลุ่มหัตถกรรมผ้าพื้นเมือง บ้านหัวบึง อ.เมือง จ.อุดรธานี กับการจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมฯ มาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันกว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบันรูปแบบธุรกิจกลายเป็น “วิสาหกิจชุมชนหัวบึง” และได้รับทุนสนับสนุนจากหลายหน่วยงานราชการรวมถึงสถาบันการเงินอย่าง ธนาคารพัฒนาวิหากิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือ SME Bank โดยได้นำเงินทุนที่ได้นั้นมาหมุนเวียนประคองธุรกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้
ลู่ทางของสายอาชีพนี้ คุณเฉลิมชัย มีเป้าหมายที่ต้องการให้เยาวชนรู้จักและร่วมอนุรักษ์การทอผ้าพื้นเมือง โดยอยากให้มีผู้สืบทอด สืบสานต่อไป ผ้าทอพื้นเมืองบ้านหัวบึง เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าที่มีคุณภาพสูง การันตีคุณภาพชิ้นงานได้จากรางวัล OTOP ระดับ 5 ดาว ต่อเนื่องกันถึง 4 ปีซ้อน และรางวัลตราสินค้า”นกยูงสีทอง” ซึ่งเป็นตราพระราชทาน
“ผ้าของเราเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นสมดังสโลแกนของจังหวัดอุดรฯ ที่ว่า “ธานีผ้าหมี่ขิด” ผ้าของเรานำเสนอลวดลายโบราณที่มีเอกลักษณ์ความเป็นอีสานแท้ ๆ ซึ่งชาวบ้านได้ทำการสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นบรรพบุรุษ ทั้งลายขิด ลายมัดหมี่ ผลิตภัณฑ์ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งใยและไหม ใช้กระบวนการผลิตจากธรรมชาติ ย้อมสีธรรมชาติ เรามีจุดเด่นที่เหนือและแตกต่างจากงานผ้าพื้นเมืองทั่ว ๆ ไป คือ ใช้เทคนิคการเพ้นต์ลงบนผ้า ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน
สำหรับกลุ่มลูกค้า คุณเฉลิมชัย เน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับบน โดยมีทั้งลูกค้าคนไทยและต่างประเทศ เนื่องจากราคาสินค้าค่อนข้างสูง โดยราคาต่อผืนประมาณหลักพันขึ้นไปจนถึงหลักหมื่นบาท เช่น ผ้ามัดหมี่หมักโคลนย้อมด้วยสีธรรมชาติราคาจำหน่ายอยู่ที่หลักพันบาทขึ้นไป หากเป็นผ้าถุงที่ทำจากผ้าไหมผสมผ้าฝ้าย ที่มีทั้งลายขิดและลายมัดหมี่อยู่ในผืนเดียวราคาจะสูงมาก เนื่องจากทำได้ยากมากต้องใช้เวลานาน สนนราคาประมาณ 7,500 บาท แต่ถ้าหากเป็นผ้าไหมล้วน ๆ ราคาเริ่มต้นที่ 12,000 บาทขึ้นไป การกำหนดราคาขายก็ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีความยากง่ายในการผลิตและลวดลาย ผ้าหมี่ขิดต้องใช้สมาชิกในการผลิตชิ้นงานถึง 3 คนกับการทอผ้ากว่าจะได้ออกมาสัก 1 ผืน
“การเพ้นต์ลงบนผ้าลายมัดหมี่ที่ย้อมสีธรรมชาติและเพ้นต์ลงบนผ้าที่หมักโคลน เป็นเทคนิคที่มีเราเท่านั้นที่นำกระบวนการผลิตนี้มาผสมผาสานใช้ในการผลิต เทคนิคนี้ช่วยให้งานผ้าของเราสวยมากขึ้นและมีสไตล์ที่ไม่ซ้ำที่ไหนแน่นอน เป็นเอกลักษณ์ของเราโดยเฉพาะจริง ๆ การเพ้นต์เราใช้สีอะคริลิกสำหรับเพ้นต์ผ้าโดยตรง”
ผลิตภัณฑ์ “วิสาหกิจชุมชนหัวบึง” มีจำหน่ายที่หมู่บ้านนาข่า ชิ้นงานทุกชิ้นที่ผลิตล้วนได้มาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับเครื่องหมายรับประกันคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สามารถเดินทางมาถึงมาตรฐานและคุณภาพที่ทุกคนต่างยอมรับในวงกว้างได้อย่างประสบผลสำเร็จ การแข่งขันในตลาดจึงเป็นเรื่องที่ คุณเฉลิมชัยไม่ได้ห่วงอะไรมากนัก ลูกค้าที่อุดหนุนไปต่างมั่นใจได้ว่าผ้าอัดแน่นไปด้วยคุณภาพแน่นอน คุณภาพของผ้าสามารถใช้งานได้ยาวนาน คงทน และที่สำคัญ สวย เก๋ สไตล์ไม่ซ้ำที่อื่น ๆ
อีกหนึ่งเทคนิคที่โดดเด่นในการผลิต คุณเฉลิมชัย ได้นำเอาไอเดียการหมักโคลน หมักเปลือกไม้ เช่น ประดู่ , ครั่ง , คราม , มะเกลือ หรือกระบก ฯลฯ เข้ามาช่วยสร้างจุดขายและให้สินค้าได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผ้าที่ได้จากการหมักลักษณะดังกล่าวจะมีความนุ่มเป็นพิเศษสวมใส่สบายยิ่งขึ้น ลูกค้าชาวญี่ปุ่นได้ให้คำจำกัดความของผ้ากับเทคนิคนี้ด้วยว่า “เป็นผ้าสมุนไพร” รูปแบบของผ้าที่จำหน่ายนั้นมีทั้งแบบแบ่งขายเป็นผืน ขายเป็นชิ้น ๆ เป็นผ้าถุงสำเร็จรูป หรือผ้าคลุมไหล่ ลูกค้าบางรายก็ซื้อเพื่อไปโชว์ตกแต่งบ้านหรือตัดเป็นชุดสำหรับออกงานก็มี
“ผมอยากให้ทุคนช่วยกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิตผ้านี้ไว้ ให้สืบต่อกันไปเรื่อย ๆ อยากให้คนไทยหันมาใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองกันมากยิ่งขึ้น อยากให้ทางราชการกำหนดวันใส่ผ้าไทยไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ เพื่อบ่งบอกถึงวัฒนธรรมและประเพณีไทยของเรา อนาคตเราจะพัฒนาการผลิตให้มีความรวดเร็วในการผลิตมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงการพัฒนาเรื่องสี จะทำอย่างไรให้ผ้าไทยสีไม่ตก”
ท้ายนี้ คุณเฉลิมชัย ฝากถึง SME Bank ที่ได้ช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ธุรกิจสามารถดำเนินมาถึงทุกวันนี้ได้ช่วยให้กลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจมากขึ้น ขอขอบคุณที่ SME Bank ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เฉกเช่น “วิสาหกิจชุมชนหัวบึง” และเป็นแบบอย่างในการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับ SMEs รายต่อ ๆ ไป
สำหรับนักลงทุนที่สนใจเรื่องแหล่งทุน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการสินเชื่อของ SME Bank ได้ที่ Call Center 1357
Tag :
108 ลู่ทางรวย
,
108 ไอเดียธุรกิจ