ss อาชีพเกษตร มะเดื่อฝรั่ง ผลไม้เพื่อสุขภาพ - อาชีพเสริมแก้จน

ติดต่อโฆษณา

อาชีพเกษตร มะเดื่อฝรั่ง ผลไม้เพื่อสุขภาพ

มะเดื่อฝรั่ง ผลไม้เพื่อสุขภาพ 

มะเดื่อฝรั่ง เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ได้ยินชื่อแล้วหลายคนอาจสงสัยว่า ผลไม้ชนิดนี้มีลักษณะผลอย่างไรและผลไม้ชนิดนี้มีในประเทศไทยด้วยหรือ อันที่จริงแล้วมะเดื่อฝรั่งเป็นพืชที่มีปลูกและศึกษาวิจัยมาเกือบ 25 ปีแล้ว โดยเป็นความร่วมมือของมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 


อาชีพอิสระการปลูกมะเดื่อฝรั่ง

โดยมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นการปลูกพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวไทยภูเขาทดแทนการปลูกฝิ่นทางภาคเหนือ กระทั่งทุกวันนี้การศึกษาวิจัยมะเดื่อฝรั่งก็ยังมิได้จบสิ้นลง ทางมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังคงเร่งศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีแปลงวิจัยอยู่ที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการทดลองปลูกมะเดื่อฝรั่ง 2 ลักษณะ คือ การปลูกในโรงเรือนและการปลูกนอกโรงเรือน ภายใต้การดูแลของ ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อาชีพอิสระการปลูกมะเดื่อฝรั่ง
คุณรุ่งธิวา ปาปะขำ นักวิชาการเกษตร สถานีเกษตรหลวงปางดะ ทีมงานวิจัยมะเดื่อฝรั่ง กล่าวว่า มะเดื่อฝรั่งเป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับหม่อน เป็นพืชประเภทกึ่งร้อนถือว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีการปลูกกันมากทางตะวันตกของทวีปเอเชีย ส่วนการปลูกที่เป็นการค้าของโลกจะอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศอิตาลี โปรตุเกส สเปน ตุรกี และกรีซ บางพันธุ์สามารถปลูกได้ในแคลิฟอร์เนียทางใต้และพื้นที่แห้งแล้งของประเทศสหรัฐอเมริกา และพบว่า

มีการผลิตต้นมะเดื่อฝรั่งบางสายพันธุ์ ได้แก่ Conadria, Beall, Brow Turkey, Purplish Black ซึ่งสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ ถึงแม้จะประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคแมลงในแปลงทดลองบ้างก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้ส่งเสริมให้กับเกษตรกรปลูกเป็นการค้า อันเนื่องมาจากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในบางประการตลอดจนลักษณะการบริโภคของคนไทยต่อผลไม้ชนิดนี้จนกระทั่งปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาวิจัยลักษณะสัณฐานวิทยา กายวิภาควิทยา และการเจริญเติบโตของมะเดื่อฝรั่งอีก 2 สายพันธุ์ ได้แก่ White Marseilless และ Dauphine ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง และในปี 2547 ได้มีการนำพันธุ์มะเดื่อฝรั่งเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นอีก 5 สายพันธุ์ ได้แก่ คาโดต้า ลิซ่า ชูก้า ดรอฟินส์ และบราว เทอร์กี้ โดยได้นำมาปลูกไว้ที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ เพื่อขยายพันธุ์ และในปี 2548

ได้มีการปลูกเพื่อทำการวิจัยทดสอบการปลูกมะเดื่อฝรั่งในโรงเรือนและนอกโรงเรือนเพื่อศึกษาความเจริญเติบโตและอื่นๆ โดยทดสอบปลูกมะเดื่อฝรั่งในโรงเรือน รวมทั้งหมด 58 ต้น มี 7 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการบริโภคสด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์บราว เทอร์กี้ อินทนนท์ จำนวน 24 ต้น พันธุ์บราว เทอร์กี้ เจแปน จำนวน 6 ต้น พันธุ์ดรอฟินส์ จำนวน 2 ต้น และพันธุ์ชูก้า จำนวน 6 ต้น ส่วนอีก 3 สายพันธุ์ จะปลูกเพื่อการแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ พันธุ์คาโดต้า จำนวน 6 ต้น พันธุ์เซเลสเต้ จำนวน 6 ต้น และพันธุ์ลิซ่า จำนวน 6 ต้น

ด้าน ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิจัยทำให้ทราบว่า การปลูกมะเดื่อฝรั่งในโรงเรือนให้ผลผลิตได้ดีกว่าการปลูกนอกโรงเรือน เพราะการปลูกนอกโรงเรือนพืชต้องพบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเสี่ยงต่อการเกิดโรคและแมลงรบกวน ซึ่งการปลูกมะเดื่อฝรั่งในระบบโรงเรือนจากข้อมูลการเจริญเติบโตเบื้องต้นพบว่า

การเจริญทางกิ่งใบมีการเจริญเติบโตดี แตกกิ่งก้านได้มาก เมื่อโน้มกิ่งจะออกดอกติดผลอย่างสม่ำเสมอ โดยภายในโรงเรือนไม่มีการทิ้งใบหมด เหมือนพื้นที่ปลูกที่สูงกว่าและจะแตกกิ่งใหม่เพื่อให้ผลผลิตขนาดผลเฉลี่ย พันธุ์บราว เทอร์กี้ 50 กรัม พันธุ์ดรอฟินส์ 100 กรัม พันธุ์คาโดต้า 45 กรัม พันธุ์เซเลสเต้ 15 กรัม พันธุ์ลิซ่า 30 กรัม และพันธุ์ชูก้า 35 กรัม ส่วนการปลูกทดสอบนอกโรงเรือน ยังต้องทำการศึกษาการพัฒนาของผล ตั้งแต่การติดผลถึงเก็บเกี่ยว ศึกษาอายุใบ และการขยายพันธุ์ต่อไป 

คุณค่าทางด้านอาหาร มะเดื่อฝรั่งเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก มีปริมาณน้ำตาลธรรมชาติมากถึง 83 เปอร์เซ็นต์ เป็นแหล่งพลังงานจากสารประกอบคาร์โบไฮเดรต ยังเป็นแหล่งอาหารประเภทให้เส้นใยที่เป็นประโยชน์ต่อการกำจัดของเสียของร่างกาย เกลือโพแทสเซียมในกรดอินทรีย์ของมะเดื่อฝรั่งจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างความเป็นกรดด่างในร่างกาย

 นอกจากนี้ ยังพบว่าภายในผลมีโปรตีนเอนไซม์ วิตามินและเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย อุดมไปด้วยวิตามินเอ บี ซี และแคลเซียม มีไฟเบอร์สูงมาก ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น เป็นผลไม้ที่ไม่มีธาตุโซเดียมและคอเลสเตอรอล ที่สำคัญยังพบว่ามีสารยับยั้งและป้องกันเซลล์มะเร็ง

"แม้ว่ามะเดื่อฝรั่งจะเป็นพืชที่อยู่ระหว่างการทดลองก็ตาม แต่คาดว่าหลังจากเสร็จสิ้นการทดลองหรือภายในปีนี้จะสามารถส่งเสริมไปยังเกษตรกรได้ เนื่องจากมะเดื่อฝรั่งเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงเฉลี่ยกิโลกรัมละประมาณ 200-300 บาท ซึ่งจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเป็นผลไม้บำรุงสุขภาพ และจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีด้วย



ไปหน้าแรก  อาชีพเสริมทำเงิน


ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/cms/detail.php?id=2240

ธุรกิจขายสมุดโน้ตเงินล้านออนไลน์ Amazon KDP

ธุรกิจขายสมุดโน้ตเงินล้านออนไลน์ Amazon KDP
E-book “คำภีร์ขายสมุดโน้ตเงินล้านออนไลน์ ลงทุน 0 บาท สำหรับมือใหม่”
Back To Top