อาชีพค้าตุ๊กแกส่งออก ไม่เพียงพบในเขตบ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เท่านั้น แต่ยังพบที่ อ.เรณูนคร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก อ.นาหว้า มากนัก โดยอาชีพเพาะเลี้ยงตุ๊กแกเพื่อส่งขายต่างประเทศนั้น ชาวบ้านบ้านตาล ทำกันมานานมากกว่า 20 ปี โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่ประเทศจีนและเวียดนาม
จากข้อมูลของด่านตรวจสัตว์ป่านครพนม พบว่า ธุรกิจค้าตุ๊กแก ไม่เพียงทำแค่การรับซื้อมาแปรรูปส่งออกเท่านั้น ยังมีธุรกิจ รับซื้อตุ๊กแกสดเกิดขึ้นต่อยอดจากอาชีพเดิมที่ทำเพียงการแปรรูป โดยจากสถิติในปี 2555 ผู้ประกอบการค้าตุ๊กแกหันมายึดอาชีพค้าตุ๊กแกสดในพื้นที่ จ.นครพนม 6 ราย มียอดการส่งออก ประมาณเดือนละกว่า 1 แสนตัว โดยจะมีการรับซื้อประมาณราคา ตัวละ 30-100 บาท ตามขนาด ก่อนนำมาตรวจสอบขออนุญาต จากด่านตรวจสัตว์ป่านครพนม เพื่อส่งออกตามพิธีการทางศุลกากร นำไปขายให้พ่อค้าชาวเวียดนาม และจีน นำไปปรุงเป็น ยาชูกำลัง
โดยทางกลุ่มผู้ประกอบการระบุว่า เมื่อนำส่งออกไปขายจะมีราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทำให้แต่ละเดือนในช่วงหน้าร้อน จะมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่ จ.นครพนม เกี่ยวกับธุรกิจส่งออกตุ๊กแก ประมาณไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10 ล้านบาท ซึ่งมีบางส่วนที่มีการแปรรูปตุ๊กแกอบแห้งส่งขายด้วย ส่วนสถิติในปี 2555 พบว่ามีการส่งออกตุ๊กแกสด จำนวนรวมกว่า 1.4 ล้านตัว คิดเป็นเงินกว่า 140 ล้านบาท ทีเดียว
พบชาวบ้านหันต่อยอดธุรกิจแปรรูปตุ๊กแกส่งออก-หันเลี้ยงตุ๊กแกขายครบวงจร
เช่นเดียวกันกับ นายชวลิต เรืองวัฒนา อายุ 43 ปี ชาวบ้านโคกสาย ต.เรณูนคร อ.เรณูนคร จ.นครพนม ถือเป็นอีก 1 ในผู้ประกอบการ ที่ยอมผันตัวจากบริษัทรับออกแบบก่อสร้าง หันมายึดอาชีพธุรกิจค้าตุ๊กแกส่งออก ภายหลังมีโอกาสได้รู้จักนายทุนผู้ค้าตุ๊กแกส่งนอก เนื่องจากมองว่า น่าจะเป็นรายได้ที่สร้าง เงินมหาศาลในอนาคต เพราะศึกษาแล้วว่ามีคู่แข่งน้อย และมีตลาด รองรับไม่อั้นหากมีตุ๊กแกส่งออกขาย
โดยเริ่มจากการรับซื้อตุ๊กแกจากชาวบ้านตัวละ 20-30 บาท นำไปส่งขายต่อให้พ่อค้าที่ทำตุ๊กแกแปรรูปในพื้นที่บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม จนกระทั่งมีการพัฒนาต่อยอด รับซื้อตุ๊กแกสดส่งออกขายไปยังประเทศจีน และล่าสุดยอมลงทุนศึกษา ทดลองทำฟาร์มเลี้ยงตุ๊กแกเพื่อศึกษา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตุ๊กแก เพื่อทำการขยายพันธุ์และส่งป้อนตลาดขาย ต้องการให้เป็นธุรกิจครบวงจร และในอนาคตต้องการที่จะทำฟาร์มตุ๊กแกเลี้ยงส่งออก และเป็นจุดเรียน รู้ศึกษาอาชีพค้าตุ๊กแก ไปจนถึงร้านอาหารเปิบพิสดาร เมนูตุ๊กแก ให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเป้าหมาย จีนเวียดนาม เข้ามาศึกษา และเที่ยวชม เปิบเมนูตุ๊กแก นำรายหมุนเวียนได้เข้าประเทศ และทำให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้แบบยั่งยืน
ด้านนายกฤษดา สาครวงศ์ หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่านครพนม กล่าวว่า ธุรกิจค้าตุ๊กแกส่งออกพบว่า มีการพัฒนาต่อยอดขึ้นต่อเนื่องในรอบ 4-5 ปี จากพื้นที่ จ.นครพนม มีเพียงการแปรรูปส่งออก เพิ่มเป็นการส่งตัวสด เพราะตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง โดยการค้าตุ๊กแกตามกฎหมาย สามารถทำได้ และสามารถรับซื้อ หรือหามาขายได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องมีการขออนุญาตก่อนการส่งออก ที่มีการแจ้งผ่านกระบวนการตรวจสอบจากด่านตรวจสัตว์ป่านครพนม และศุลกากร เพื่อให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ที่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมต่ำไม่ยุ่งยากในการดำเนินการ
ในอนาคตทางเจ้าหน้าที่กำลังหารือกับผู้ประกอบการค้าตุ๊กแก เพื่อทำการทดลองส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงในอนาคต เป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ส่วนปัญหาเรื่องสูญพันธุ์นั้นยาก เพราะโดยธรรมชาติของตุ๊กแกในระยะเวลา 1 ปี จะสามารถจับตุ๊กแกได้ช่วงหน้าร้อนเท่านั้น ส่วนฤดูอื่นตุ๊กแกจะหลบ ไม่ออกมาให้เห็น ทำให้มีโอกาสขยายพันธุ์ชดเชยได้ และเพิ่มประชากรตุ๊กแกขึ้นทุกปี อนาคตหากทำได้มองว่าการค้าตุ๊กแกจะเป็นอาชีพสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับ เกษตรกรมหาศาล
ไปหน้าแรก อาชีพอิสระรายได้ดี
ขอบคุณบทความจาก www.businessthaicenter.com