หากคุณคือคนหนึ่งที่กำลังมองหาธุรกิจเป็นของตัวเอง และหนึ่งในนั้นที่คุณเลือกคือธุรกิจแฟรนไชส์ เราขอบอกคุณว่า“ช้าก่อน…อย่าเพิ่งตัดสินใจลงทุนจนกว่าคุณจะมองเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแฟรนไชส์” หลายคนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับแฟรนไชส์ โดยเข้าใจว่าแฟรนไชส์คือต้นแบบของความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงธุรกิจแฟรนไชส์ก็มีความเสี่ยงเหมือนกับธุรกิจทั่วไป ความเชื่อในรูปแบบของความสำเร็จว่าไม่มีทางล้มเหลวนี้เองที่เป็นหลุมพรางทำให้หลายคนเกือบถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวมาแล้ว
แน่นอนคุณมีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อและอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า…..จะเป็นไปได้ยังไง ขนาดคนขายก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์รถเข็นชื่อดังที่คุณรู้จักยังขายอยู่ได้ตั้งหลายปี หรือแม้แต่ยายศรีข้างบ้านที่เกษียณอายุราชการ และไม่เคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจ ยังร่ำรวยจากแฟรนไชส์ แต่เราขอยืนยันอีกครั้งว่าการเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จในแฟรนไชส์ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสำเร็จเหมือนกับเขา เพราะนี่ไม่ใช่นิทานที่ตอนจบจะลงเอยด้วยความสุขเสมอไป และมันอาจฟังดูโหดร้ายแต่ถ้าคุณลองตั้งสติคิดให้ดีจะพบว่า มีหลายแฟรนไชส์ที่คุณเคยเห็น ปิดตัวลงหลังจากเปิดกิจการได้ไม่นาน หลายรายเมื่อเปิดกิจการไปได้สักพักลูกค้ากลับลดลงเรื่อย ๆ จนแทบไม่มีเหลือ หรือแฟรนไชส์บางรายที่คุณเห็น ตอนแรกมีแค่สาขาเดียวในแถบนั้น เมื่อเวลาผ่านไปกิจการดีขึ้น แฟรนไชส์ซอก็มาเปิดสาขาแข่งซะเอง ในระยะห่างกันเพียงแค่ข้ามถนนถึงเท่านั้น นี่ยังไม่รวมแฟรนไชส์ซอหน้าใหม่ที่กระโดดเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ โดยที่ไม่มีประสบการณ์มากพอ สุดท้ายต้องปิดตัวเองลงพร้อมกับการลอยแพแฟรนไชส์ซีที่เคราะห์ร้าย
แล้วฉันจะทำยังไง?…..หากนี่คือคำถามที่สองที่ตามมา เราขอบอกคุณว่าให้ใช้สติและความรอบคอบอย่างที่สุดในการตัดสินใจลงทุนทุกครั้งให้คิดก่อนลงทุนเสมอว่า “คุณกำลังเสี่ยงและคุณจะปกป้องเงินออมทั้งชีวิตนี้ได้อย่างไร” ก่อนอื่นคุณต้องวิเคราะห์ตัวเองและคนในครอบครัว รวมถึงคนรอบข้างอย่างละเอียดว่ามีความพร้อมมากพอสำหรับแฟรนไชส์หรือไม่ เราขอเน้นคำว่า “มากพอ” และให้วิเคราะห์ให้รอบด้าน โดยไม่ลืมว่าคุณขาดข้อไหนไปเพราะปัญหาเล็กๆที่คุณลืม หรือมองข้ามเพราะคิดว่าไม่สำคัญในวันนี้ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ธุรกิจคุณล้มเหลวในอนาคตได้ จากนั้นจึงพิจารณาว่าคุณเหมาะกับประเภทธุรกิจแฟรนไชส์อะไร แล้วค่อยพิจารณาเลือกกิจการแฟรนไชส์ โดยเน้นให้คุณดูจากประสบการณ์ของเจ้าของกิจการ รวมถึงความน่าเชื่อถือของธุรกิจเป็นหลัก จำนวนสาขาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะการันตีได้ว่าธุรกิจนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก การพิจารณาเลือกแฟรนไชส์ที่เปิดใหม่และยังไม่มีชื่อเสียง หรือใช้เงินทุนต่ำนั้นเป็นความเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่ให้คุณพึงระวัง เพราะแม้เจ้าของกิจการจะมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจของเขามาก่อน แต่สำหรับประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของกิจการแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอนั้น ถือว่าเป็นมือใหม่ ชื่อเสียงของตราสินค้าอาจยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดมากนัก ตลอดจนผู้ซื้อแฟรนไชส์ก่อนหน้าคุณก็อาจะยังไม่สามารถการันตีถึงความสำเร็จได้
ดังนั้นจึงอยากให้คุณเข้าใจว่า การขายสาขาแฟรนไชส์ คือการขายระบบที่เจ้าของกิจการเคยดำเนินการมาก่อน แล้วประสบความสำเร็จให้กับคุณเพื่อนำไปดำเนินการต่อ โดยมีเจ้าของกิจการแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการดำเนินงาน ส่วนในด้านผลกำไรและความสำเร็จที่เหลือนั้นคุณเองต้องเป็นผู้ลงมือ ซึ่งต่างกับการนำเงินไปร่วมลงทุนในธุรกิจแล้วคอยรับปันผลเหมือนกับที่หลายคนเคยเชื่อมา
“รูปแบบของความสำเร็จที่แท้จริงนั้นไม่ได้มาจากแฟรนไชส์เป็นผู้กำหนด แต่มาจากตัวคุณเป็นผู้เลือกระบบที่ถูกต้องและเหมาะสมด้วยตัวเอง”