งานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ ครั้งที่ 8
-เปิดมิติใหม่กระตุ้นจับคู่ธุรกิจ
- เจาะกลยุทธ์ผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์
- วางคอนเซ็ปต์ฉีกแนว จับสาระบันเทิงดูดกลุ่มเป้าหมาย
- วงในเผยซื้อ-ขายธุรกิจแฟรนไชส์อย่างไรให้ได้ดังฝัน
จากการคลุกคลีกับธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งในฐานะของสื่อด้วยการทำนิตยสารแนะนำและให้ข้อมูลด้านธุรกิจในชื่อ “ตั้งตัว” มานานถึง 8 ปี และนิตยสารในชื่อ “แฟรนไชส์ทูเดย์” เพื่อเน้นไปที่ธุรกิจแฟรนไชส์ รวมทั้งการจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจในชื่อ “แฟรนไชส์สร้างอาชีพ”
วีระเดช ชูแสงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรท ดีไซน์ แอนด์ พริ้นท์ จำกัด กล่าวในฐานะคนวงในที่ติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกิจแฟรนไชส์มาอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นมุมองต่างๆที่น่าสนใจในธุรกิจแฟรนไชส์ โดยสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือความกังวลของผู้ซื้อแฟรนไชส์ ในเรื่องของความเชื่อถือและความมั่นคงของผู้ประกอบการแฟรนไชส์รายต่างๆ
จากคำถามแรกที่พบมากที่สุดคือถ้าซื้อแฟรนไชส์รายนี้จะถูกหลอกหรือไม่? ส่วนคำถามที่สองคือ เมื่อไม่เห็นข่าวคราวของผู้ประกอบการแฟรนไชส์รายที่ต้องการซื้อมักจะถามว่าธุรกิจแฟรนไชส์รายนั้นยังทำกิจการอยู่หรือไม่
คำแนะนำสำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องเข้าใจว่าทุกธุรกิจมีความเสี่ยง จึงต้องไม่คาดหวังมากเกินไปว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะไม่มีวันล้มเหลว หรือมีรายได้สูงเพราะเจ้าของแฟรนไชส์มักจะพาไปดูร้านหรือสาขาที่ขายดี ผู้ซื้อแฟรนไชส์จึงต้องสำรองเงินอีกก้อนประมาณ 30-50% ของเงินลงทุนก้อนแรกเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ และต้องดูความพร้อมของครอบครัวว่าให้การสนับสนุนเพื่อเป็นแรงผลักดันที่ดีด้วยหรือไม่ ขณะที่เจ้าของแฟรนไชส์ต้องการให้ผู้ซื้อจัดการธุรกิจด้วยตนเองมากกว่า
แต่จุดอ่อนของผู้ซื้อแฟรนไชส์ส่วนมากคือ การไม่หาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแฟรนไชส์ให้ดีพอ
โดยต้องหาจากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้ได้เห็นแนวทางและแผนงานในการทำธุรกิจและหาคนที่ซื้อแฟรนไชส์นั้นมาแล้วหรือแฟรนไชส์ซี ซึ่งจะได้ข้อมูลเชิงลึกอีกด้านหนึ่ง เช่น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือข้อบกพร่องของเจ้าของแฟรนไชส์
โชว์จุดขายอีเวนต์แตกต่าง-โดนใจ
อย่างไรก็ตามยังเห็นได้ชัดเจนว่ามีคนต้องการหารายได้เพิ่มทุกวัน และคนที่สนใจหลากหลายมาเลือกหาธุรกิจแฟรนไชส์ ดังนั้น การจัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพจึงมองว่าทุกคนมีโอกาสเป็นลูกค้า ซึ่งจากการจัดไปแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง พบว่าผู้เข้าชมงานให้ความสนใจมาเข้าชมและสอบถามอย่างมาก โดยมีผู้ที่ตั้งใจมางานแฟรนไชส์ฯ กับผู้ที่มาเดินห้างฯ มีจำนวนหรือสัดส่วนพอๆ กัน ทำให้เห็นอีกว่าเพราะคนไทยชอบให้เสิร์ฟถึงที่จึงตื่นตัวและให้ความสนใจ แต่คนต่างจังหวัดตื่นตัวมากกว่า เพราะมีโอกาสน้อยกว่า
งานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ ครั้งที่ 8 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 – 13 พฤษภาคม 2555 ที่ศูนย์การค้าแฟชั่น ไอซ์แลนด์ รามอินทราเป็นครั้งแรก เพื่อขยายการเข้าถึงลูกค้าใหม่ แต่ก็ยังคงใช้รูปแบบการจัดงานและจุดดึงดูด ซึ่งเป็นการขายที่แตกต่างจากผู้จัดรายอื่น ด้วยการเลือกจัดงานในส่วนของลานกิจกรรมหลักในศูนย์การค้าที่มีคนจำนวนมาก ใช้แนวคิดแบบสาระบันเทิง
โดยนำดาราดังมาร่วมงาน เช่น แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ซึ่งเป็นทั้งพิธีกรสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มาบอกเล่าถึงธุรกิจของตนเองอย่างเป็นกันเอง ช่วยกระตุ้นความสนใจได้อย่างมาก ทั้งจากสื่อบันเทิงที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและผู้ที่มาเดินในงาน ส่วนไฮไลท์ของงานคือ การแจกธุรกิจแฟรนไชส์มูลค่า 3-5 หมื่นบาททุกวัน วันละ 1 ราย ให้กับผู้เข้าชมงาน ช่วยดึงดูดผู้เข้าชมงานได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับเป้าหมายการจัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพเป็นการจัดคู่ธุรกิจที่แตกต่างจากงานอื่นเพราะต้องการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวตั้งแต่กลุ่มคนที่อยู่ในระดับรากหญ้าให้มีโอกาสเข้าถึงการหารายได้เพิ่มด้วยการทำธุรกิจแฟรนไชส์หรือสร้างเครือข่ายธุรกิจ และต้องการเชื่อมโยงธุรกิจเดิมคือสื่อนิตยสารสร้างอาชีพให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น
โดยวิธีการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์เข้ามาร่วมงานคือเลือกให้มีทุกหมวดเพื่อให้มีความหลากหลายโดยเน้นไปในกลุ่มที่มีการลงทุนระดับหลักหมื่นและหลักแสน เพราะมีโอกาสที่จะขายได้มากกว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการลงทุนหลักล้าน และยังเลือกเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพมาตรฐานที่ได้จากการเป็นสื่อทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกต่างๆ และเพื่อป้องธุรกิจแฟรนไชส์ที่หลอกลวงหรือไม่มีคุณภาพอีกด้วย
Tag :
ข่าวแฟรนไชส์