ผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ เพราะผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ได้จัดทำสัญญาสำเร็จรูป โดยกำหนดข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบในการทำสัญญา โดยกำหนดสิทธิของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นคือ “สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา” ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 และมีการประกาศให้ธุรกิจบางประเภทเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา
ธุรกิจที่ สคบ.ประกาศให้เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา
- ธุรกิจบัตรเครดิต กำหนดให้มีข้อสัญญาที่ผู้บริโภคมีสิทธิในด้านต่าง ๆ ที่ไม่เป็นการเสียเปรียบผู้ประกอบธุรกิจ เช่น สิทธิในการบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ สิทธิที่จะขอระงับการใช้บัตรชั่วคราวทางโทรศัพท์โดยไม่ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังแจ้งเป็นต้น บังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2543
- ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงิน ได้กำหนดให้มีสัญญาที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย การคิดค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญา และการค้ำประกัน ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2544
- ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้กำหนดให้มีข้อสัญญาที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ถูกเอาเปรียบ เช่น ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะขอรับใบแจ้งรายการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่เดียวกัน ย้อนหลังในกรณีที่เกิดสงสัยในเรื่องค่าใช้จ่ายโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2544
- ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ข้อสัญญามีสาระสำคัญเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภคพึงได้รับ เช่น กรณีผู้เช่าซื้อรถได้ชำระเงินครบถ้วน ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องดำเนินการขอจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อของผู้เช่าซื้อภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อได้รับเอกสารจำเป็นในการจดทะเบียนจากผู้เช่าซื้อ และผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยเมื่อประสงค์จะชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2543
- ธุรกิจให้เช่าชื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้กำหนดให้มีสัญญาที่มีสาระสำคัญ เช่น บอกเลิกสัญญาผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หรือกรณีผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราที่ตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา เป็นต้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2544
- ธุรกิจขายห้องชุด ได้กำหนดสาระสำคัญของสัญญาให้ผู้ประกอบธุรกิจมีคำมั่นว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุดเมื่อใด และในกรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดต่อไปได้ จะต้องคืนเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระไปแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 กันยายน 2543
- ธุรกิจขายก๊าซหุงต้มที่เรียกเงินประกันถังก๊าซหุงต้ม เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินโดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำหลักฐานการรับเงินมอบให้แก่ผู้บริโภคในทันทีที่รับเงินประกันจากผู้บริโภคที่ซื้อก๊าซ โดยหลักฐานต้องระบุข้อความว่า ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับคืนเงินประกันเมื่อนำถังก๊าซมาคืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ค้าน้ำมันที่เป็นเจ้าของถังก๊าซหุงต้ม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2543
- ธุรกิจการให้บริการซ่อมรถยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำหลักฐานการรับเงินมอบให้แก่ผู้บริโภคทันทีที่รับเงินหรือค่าตอบแทนการให้บริการซ่อมรถยนต์
สาระสำคัญที่ต้องระบุในหลักฐานการรับเงิน เช่น
· ชื่อ ที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ
· วัน เดือน ปี ที่ผู้บริโภคส่งมอบรถยนต์ให้ซ่อม
· วันเดือนปี ที่ผู้บริโภครับมอบรถยนต์เมื่อซ่อมเสร็จ
· วันเดือนปี ที่รับเงินหรือค่าตอบแทนการให้บริการซ่อมรถยนต์
· รายละเอียดเกี่ยวกับยี่ห้อ รุ่น หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง และหมายเลขทะเบียนนของรถยนต์ที่ทำการซ่อม
· ระยะทางการใช้ของรถยนต์ในวันที่รับมอบและในวันที่ซ่อมเสร็จ
· รายการที่ทำการซ่อม ค่าแรง
· กรณีที่มีการเปลี่ยนอะไหล่ต้องระบุรายการ ยี่ห้อ สภาพ และราคาของอะไหล่ที่เปลี่ยน ระยะเวลาหรือระยะทางการรับประกันความชำรุดบกพร่อง หรือคุณภาพงานซ่อม และหรือการรับประกันอะไหล่ที่เปลี่ยน และลายมือชื่อของผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงินโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2547
Tag :
สาระน่ารู้กับ สคบ.