การประกอบธุรกิจที่ต้องการแรงงานที่มีฝีมือและมีความรู้ทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาจหาแรงงานภายในประเทศได้ยาก บางครั้งจึงต้องจ้างแรงงานจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่าแรงงานต่างด้าวนั้นเอง ซึ่งการจ้างแรงงานที่มีฝีมือนั้นจะทำให้มีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีสู่แรงงานไทย และในที่สุดจะก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของผู้ ประกอบการ
แต่การจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ไทยจะต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน ซึ่งมีขั้นตอนและรายละเอียดในการขออนุญาตค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน แรงงานต่างด้าวจึงไม่สามารถทำเองได้ ดังนั้น ในการขออนุญาตจึงมัก เป็นหน้าที่ของนายจ้าง
การขออนุญาตจ้างแรงงานต่างด้าวต่อทางราชการ หรือการขอ Work Permit ให้แต่คนงานต่างด้าวนั้น จะต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้
ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลที่มีขนาดการ ลงทุนจากทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท โดยทุกๆ 2,000,000 บาทให้อนุญาตจ้างคนต่างด้าวทำงานได้ 1 คน หรือนายจ้างจดทะเบียนนิติบุคคลในต่างประเทศ และเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ที่มีขนาดการลงทุนจากเงินที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาท โดยทุกๆ 3,000,000 บาทให้จ้างได้ 1 คน แต่ทั้งนี้ให้อนุญาตได้ไม่เกิน 10 คน
เว้นแต่งานที่คนต่างด้าวทำใช้เทคโนโลยีซึ่งคน ไทยยังทำไม่ได้ หรือจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานภายในประเทศ หรือคนต่างด้าวทำงานโดยใช้ความรู้ความชำนาญเฉพาะทางเพื่อให้งานสำเร็จภายใต้โครงการที่มีระยะเวลาแน่นอน หรือคนต่างด้าวทำงานในกิจการการบันเทิง มหรสพ ดนตรี ซึ่งมีลักษณะการจ้างงานเป็นครั้งคราวมีระยะเวลากำหนดไว้แน่นอน เจ้าหน้าที่สามารถพิจาราณาแรงงานต่างด้าวได้เกินกว่าที่ กำหนดตามความเหมาะสมได้
ส่วนกรณีที่นายจ้างเป็นบุคคลธรรมดา จะต้องมีรายได้จากการประกอบกิจการในรอบปีที่ผ่านมาหรือปีปัจจุบันทุกๆ 700,000 บาท หรือ นายจ้างที่ได้ชำระภาษีเงินได้ให้แก่รัฐในรอบปีที่ผ่านมาทุก 50,000 บาท จึงสามารถขออนุญาตแรงงานต่างด้าวได้ 1 คน แต่ทั้งนี้ขออนุญาตได้ไม่เกิน 3 คน
แต่ถ้าคนต่างด้าวมีคู่สมรสเป็นคนไทยซึ่งจด ทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและอยู่กินร่วมกันฉันท์สามีภรรยาโดยเปิดเผย ขนาดของการลงทุนตามที่กำหนดไว้ข้างต้นทั้งสองกรณีให้ลดลงกึ่งหนึ่ง
ลักษณะงานที่นายจ้างจะขออนุญาตต้องไม่ใช่งาน ต้องห้ามตามพระราชกฤษฎีกาเรื่องกำหนดงานในอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบ อาชีพในประเทศไทย ซึ่งคืองานที่สงวนให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น เช่น งานตัดผม งานเสริมสวย งานแกะสลักไม้ งานทำเครื่องเขิน และงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวกับการออกแบบ เขียนแบบ ประเมินราคา เป็นต้น
นอกจากนี้คนงานต่างด้าวที่นายจ้างจะสามารถขอ อนุญาตต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ทำงานได้นั้นจะต้องไม่เป็นบุคคลที่ขาด คุณสมบัติหรือต้องห้ามตามกฎหมาย รวมทั้งจะต้องมีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขอรับใบอนุญาต ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฎอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างรุนแรง หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง และไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต
ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาขออนุญาตการทำงานของคน ต่างด้าวของเจ้าหน้าที่จะเป็นไปตามระเบียบของกรมการจัดหางานว่าด้วยหลัก เกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2547 โดยการพิจารณาจะคำนึงถึง
1. ความมั่นคงภายในประเทศ ด้านการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจและสังคม
2. การปกป้องมิให้คนต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพที่คนไทยมีความรู้ความสามารถที่จะทำ ได้ และมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานในราชอาณาจักร
3. ประโยชน์จากการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในตำแหน่งงานนั้นก่อให้ เกิดการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนหรือใช้ จ่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทย จำนวนมากหรือเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ความรู้ความ ชำนาญในวิทยาการสมัยใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและมีการถ่ายทอดให้คนไทย
4. การพัฒนาทักษะฝีมือที่คนไทยจะได้รับจาก การที่คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ และ ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจวิธีการ รายละเอียดที่เกี่ยวข้องของเครื่องจักร เครื่องมือ และความรู้ ความชำนาญในวิทยาการสมัยใหม่ให้แก่คนไทยในงานนั้น
สถานที่ในการยื่นขออนุญาตนั้น ถ้าสถานประกอบการอยู่ในกรุงเทพมหานครให้ยื่นขออนุญาตได้ที่กองงานคนต่างด้าว ส่วนในจังหวัดที่มีแรงงานจังหวัดให้ยื่นขออนุญาต ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดนั้น ๆ
แรงงานที่ได้รับใบอนุญาตทำงานถูกต้องตาม กฎหมายคงไม่มีปัญหาอะไรเพราะสามารถควบคุมและตรวจสอบได้ แต่ถ้าเป็นแรงงานผิดกฎหมาย อาจทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างด้าวมีความผิดและอาจต้องรับโทษทางอาญา
บทความโดย : เชิดศักดิ์ ธีรนันทวา นิช ที่ปรึกษาSMEs ด้านกฏหมาย ธุรกิจ
ฝ่ายประสานและบริการSMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ที่มาจาก : http://cms.sme.go.th/cms/c/journal_articles/view_article_content?article_id=01-TIPS-121009&article_version=1.0
Tag :
กฏหมาย SMEs