ss การตลาดที่ยั่งยืน - อาชีพเสริมแก้จน

ติดต่อโฆษณา

การตลาดที่ยั่งยืน

หลังจากหนังสือการตลาด 3.0 (Marketing 3.0) ที่เขียนโดยปรมาจารย์ด้านการตลาดอย่าง ฟิลิป คอตเลอร์ เฮรมาวัน การตะจายา และ อีวาน เซเตียวาน วางตลาดได้ไม่นาน กระแสการตลาดแบบยั่งยืน ก็เริ่มพูดกันอย่างกว้างขวางในวงการตลาด

การตลาดแบบยั่งยืน ต้องเน้นการผลักดันให้สังคมดีขึ้นด้วยความมุ่งมั่นตามพันธกิจของบริษัทและพลังผลักดันตามความต้องการสูงสุดของผู้บริโภคเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้สังคมและผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กิจการควบคู่กันไป  จุดเริ่มต้นของการทำการตลาดในแนวนี้เริ่มจากเลือกปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมที่บริษัทต้องการรณรงค์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญต้องพิจารณาว่าปัญหานั้นมีความสัมพันธ์กับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมขององค์กรหรือไม่ รวมถึงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับทั้งต่อบริษัท ต่อลูกค้าและต่อสังคม

ลำดับต่อมาคือการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการรณรงค์ในปัญหานั้น ๆ กลุ่มเป้าหมายอาจจะเป็น พนักงานของบริษัท ลูกค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ขายปัจจัยการผลิต ฯลฯ บริษัทควรเลือกกลุ่มเป้าหมายที่สามารก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการในวงกว้าง ขั้นสุดท้ายคือการแก้ไขปัญหาด้วยการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจต้องอาศัยนวัตกรรมที่บริษัทสร้างขึ้นใหม่ หรือเผยแพร่นวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว ให้แพร่หลายเหมาะกับปัญหาที่ต้องการแก้ไข หรืออาจจะเป็นผู้ลงทุนเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาที่ต้องการรณรงค์


ในบ้านเราองค์กรใหญ่ ๆ เริ่มใช้กลยุทธ์การตลาดตามแนวทางนี้ เช่น กลุ่ม เอสซีจี ประกาศแนวทางการทำการตลาดแนวใหม่ “Human Value Marketing” โดยให้เหตุผลว่า เพราะกระแสรักษ์โลกและผู้บริโภคที่หันมานิยมเลือกใช้สินค้าที่มีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวทางการตลาดของ เอสซีจี จึงต้องปรับเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงด้วยการสร้างสรรค์สินค้าที่มีนวัตกรรม โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสังคมที่ยั่งยืนไม่เพียงได้กำไรจากการทำธุรกิจเท่านั้น


หัวใจของการทำการตลาดแบบ Human Value Marketing ประกอบด้วย


    1. ความเข้าใจ ที่ไม่เพียงเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงเท่านั้นแต่ยังลึกไปถึงความต้องการที่ซ่อนเร้นของลูกค้าและคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องด้วย
    2. นวัตกรรม  และการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการตอบสนองความต้องการของยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนไปเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยคุณภาพของสินค้าและบริการ
    3. แนวคิดร่วมสร้างสรรค์ เป็นการผสมผสานนวัตกรรมที่เป็นเลิศของเอสซีจีในแต่ละกลุ่มธุรกิจ รวมทั้งคู่ค้าทางธุรกิจ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้หลากมิติมากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรมองข้ามกระแสการตลาดแนวใหม่นี้ ต้องปรับตัวให้ทันแม้อาจจะยังไม่พร้อมทำ ก็อย่าทำตัวขวางโลกครับ


บทความโดย : ดร.เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม

ธุรกิจขายสมุดโน้ตเงินล้านออนไลน์ Amazon KDP

ธุรกิจขายสมุดโน้ตเงินล้านออนไลน์ Amazon KDP
E-book “คำภีร์ขายสมุดโน้ตเงินล้านออนไลน์ ลงทุน 0 บาท สำหรับมือใหม่”
Back To Top