ss อาชีพเสริมการปลูก "ผักขึ้นฉ่าย" ให้ได้เงินล้านทำอย่างไร ? มาดูกัน - อาชีพเสริมแก้จน

ติดต่อโฆษณา

อาชีพเสริมการปลูก "ผักขึ้นฉ่าย" ให้ได้เงินล้านทำอย่างไร ? มาดูกัน

อาชีพเสริมการปลูก "ขึ้นฉ่าย" ให้ได้เงินล้าน ทำอย่างไร ? สวัสดีครับเพื่อน ๆ ทุกท่าน ที่จั่วหัวข้อขึ้นมาแบบนี้ก็เพื่อเป็นการเชิญชวนเพื่อน ๆ ที่สนใจหาอาชีพเสริมด้วยการปลูกพืชผักขาย ซึ่งบางท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่าการปลูกผักจะทำให้มีเงินล้านได้อย่างไร วันนี้ผมไปอ่านเจอบทความจากเว็บ matichon online จึงขออนุญาตนำเอามาเผยแพร่ ฝากให้เพื่อน ๆ ที่สนใจอยากจะมีเงินล้านจากการปลูกผัก ซึ่งผักที่ว่านั้นก็คือ "ผักขึ้นฉ่าย" นั่นเอง เรามาดูกันเลยครับว่าเค้ามีเคล็ดลับในการปลูกอย่างไรให้ได้เงินล้าน

การปลูกผักขึ้นฉ่าย

คุณบัญชา หนูเล็ก อยู่บ้านเลขที่ 9/5 หมู่ที่ 7 ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โทร. (089) 220-8438 ถือเป็นเกษตรกรมืออาชีพท่านหนึ่ง ในอำเภอบางแพ ที่สะสมประสบการณ์ในการปลูกผักมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ประกอบกับ คุณบัญชา ได้นำเอาวิชาการ และเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรของตนเอง ส่งผลให้การปลูกผักประสบผลสำเร็จและเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทั้งยังมีผลกำไรสูงสุด 

“ขึ้นฉ่าย” ถือเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่คุณบัญชา กล่าวว่า เป็นการทำการเกษตรแบบแจ๊กพ็อต ที่ปลูกเพียงครั้งเดียว สามารถสร้างรายได้ถึง 1 ล้านบาท แต่สามารถปลูกได้เพียงครั้งเดียว ในรอบ 3-5 ปี เป็นเพราะอะไร คุณบัญชา มีคำตอบและข้อแนะนำเคล็ดลับดีๆ ในการปลูกขึ้นฉ่าย

ตลาดมีความต้องการ “ขึ้นฉ่าย” ทุกวัน เช่นเดียวกับผักชี ต้นหอม ขึ้นฉ่ายมีราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ค่อนข้างดี และมีปริมาณการใช้ผักขึ้นฉ่ายมากในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ฯลฯ คล้ายกับผักชนิดอื่นๆ ซึ่งในช่วงเทศกาลดังกล่าวจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท โดยเกษตรกรที่ปลูกผักขึ้นฉ่ายก็ต้องมีการคำนวณช่วงเวลาเพาะปลูก มองหาช่องทางว่าจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงใด จึงจะมีผลกำไรมากที่สุด

การปลูกผักขึ้นฉ่าย
คุณบัญชา อาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ช่วงเวลาใด ที่ผักมีในตลาดน้อย หรือตลาดมีความต้องการมาก ซึ่งได้คำตอบจากคุณบัญชา ว่า ถ้าจะผลิต “ผักขึ้นฉ่าย” จำหน่ายให้ได้ราคาสูง และตลาดมีความต้องการนั้น คุณบัญชา จะผลิตออกมาสู่ตลาดให้ตรงกับวัน “ออกพรรษา” โดยคุณบัญชาให้เหตุผลว่า ไม่ใช่เพราะตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นเรื่องของช่วงจังหวะเวลาที่ในช่วงวันออกพรรษา ที่ส่วนใหญ่ทุกคนจะต้องหยุดงานแล้วไปทำบุญ นั่นก็รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกผักและแรงงานที่เก็บผักด้วย ที่หยุดไปทำบุญด้วย ทำให้ผักป้อนเข้าสู่ตลาดน้อยมากในทุกปี ทั้งที่ปริมาณการใช้ผักยังคงเท่าเดิม หรือมีมากขึ้น แต่สินค้าไม่มี ทำให้ราคาผักหรือผักขึ้นฉ่ายที่เตรียมปลูกส่งตลาดมีราคาสูงขึ้นนั่นเอง นี่ถือเป็นเคล็ดลับที่คุณบัญชายอมเปิดเผยว่า เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเป็นอย่างนี้มานานนับสิบปีแล้ว จึงทำให้รู้ว่าสินค้าพืชผักจะแพงในช่วงใด

ทำไม จึงเรียก “เกษตรแจ๊กพ็อต”คุณบัญชา อธิบายว่า ส่วนหนึ่งคือ การคาดการณ์ในเรื่องของผลผลิตที่จะให้ออกสู่ตลาดช่วงใด ให้ได้ราคาสูงสุด ซึ่งเกษตรกรต้องเลือกปลูกผักชนิดที่คิดว่าจะได้ราคาดีที่สุด ซึ่งปีที่ผ่านมา คุณบัญชาเลือกปลูกขึ้นฉ่าย เพราะเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีราคาค่อนข้างดี ราคาเฉลี่ย 100 บาท ขึ้นไป ในช่วงเทศกาล แต่ขึ้นฉ่ายเป็นผักที่สามารถปลูกได้เพียงครั้งเดียวในรอบ 3-5 ปี ไม่สามารถปลูกซ้ำพื้นที่เดิมได้ เนื่องจากจะประสบปัญหาเรื่องของโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราเป็นอย่างมาก หากปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมมักจะเกิดปัญหาโรคระบาด ผลผลิตเสียหาย ทำให้การปลูกผักขึ้นฉ่ายของคุณบัญชานั้นเป็นเพียงการปลูกผักแบบเฉพาะกิจ เมื่อครบรอบเวลาที่คิดว่าจะปลูกขึ้นฉ่ายได้อีกครั้ง และตลาดมีแนวโน้มว่าราคาน่าจะดีที่สุด ก็จะกลับมาปลูกผักขึ้นฉ่ายอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้ราคาดีเหมือนถูก “แจ๊กพ็อต” นั่นเอง

ในปีที่ผ่านมา คุณบัญชา เลือกที่จะเพาะกล้าขึ้นฉ่ายช่วงเดือนสิงหาคม แล้วเก็บเกี่ยวขึ้นฉ่ายขายราวเดือนตุลาคม ซึ่งในปีที่แล้ว วันออกพรรษา ขึ้นฉ่ายของคุณบัญชาเก็บเกี่ยวได้พอดี โดยคุณบัญชาปลูกขึ้นฉ่ายไว้ ประมาณ 6 ร่องแปลงปลูก โดย 1 ร่องแปลง มีขนาดพื้นที่ ประมาณ 180 ตารางวา หรือเกือบ 2 งาน ใน 1 ร่องแปลงปลูก หากคิดรวมกัน ประมาณ 3 ไร่ เท่านั้น การเก็บขึ้นฉ่ายขายได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท เป็นขั้นต่ำ ซึ่งเก็บขึ้นฉ่ายขายต่อเนื่องราว 10 วัน วันละประมาณ 900-1,000 กิโลกรัม พื้นที่แค่ 3 ไร่ ได้เงินเกือบล้านบาท นี้ไงคือ การทำ “เกษตรแจ๊กพ็อต”

การปลูกผักขึ้นฉ่าย
การปลูก “ขึ้นฉ่าย” แบบคุณบัญชา
เริ่มต้นจากการเตรียมดินที่ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของพืชผักแต่ละชนิด ว่ามีลักษณะอย่างไร มีความต้องการปัจจัยในการเจริญเติบโตแบบไหน อย่างขึ้นฉ่ายนั้นเป็นพืชรากตื้น การเตรียมดินจึงไม่จำเป็นต้องขุดดินลึกมากนัก ใช้เพียงรถไถติดผาลตีดิน ตีให้ละเอียด ลึกเพียง 2-3 นิ้ว ก็ใช้ได้

เคล็ดลับอยู่ที่แปลงปลูก จะใส่ขี้ไก่ แกลบ ประมาณ 60 กระสอบ (อาหารสัตว์) ต่อร่องแปลงปลูก ตีกับดินให้ละเอียดจนดินฟู ขี้ไก่ แกลบ นอกจากจะเป็นปุ๋ยคอกที่ช่วยให้ขึ้นฉ่าย งาม ใบเขียวแล้ว ยังเป็นเคล็ดลับหนึ่งที่ช่วยให้ดินอุ้มน้ำเก็บความชื้นได้อย่างเหมาะสม เพราะขึ้นฉ่ายเป็นพืชที่ชอบน้ำ ต้องการดินที่ค่อนข้างฉ่ำน้ำสักนิด เปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ได้ใส่ขี้ไก่หรือใส่น้อย ก็ปลูกได้ไม่ดีเท่าไรนัก และวิธีดังกล่าวทำให้คุณบัญชา ไม่ต้องกางซาแรนบังแดดให้แปลงขึ้นฉ่ายเหมือนเกษตรกรท่านอื่น ซึ่งถ้าต้องกางซาแรนบังแดดยาวตลอดทั้งแปลง  นั่นหมายถึง ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

เมล็ดพันธุ์ขึ้นฉ่าย คุณบัญชา เลือกใช้ขึ้นฉ่าย พันธุ์ “ซุปเปอร์โพธิ์ทอง” ของ บริษัท เจียไต๋ ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ต้นใหญ่ ต้นขาว ใบใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด และมีการเจริญเติบโตที่เร็ว ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี อายุการเก็บเกี่ยวหลังการหว่านราว 90 วัน แต่การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์นั้น ก็ต้องเลือกดูสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ควรรดน้ำให้กับแปลงปลูกพอหมาดก่อนล่วงหน้าสัก 1 วัน เพื่อให้ดินมีความชื้น หว่านเมล็ดขึ้นฉ่ายให้ทั่วๆ แปลงนั้นก็ต้องอาศัยความชำนาญในการหว่านเมล็ดให้มีความสม่ำเสมอ จากนั้นคลุมด้วยฟาง รดน้ำตามให้ชุ่ม ดินก็จะละลายมากลบทับเมล็ดพอดี ให้น้ำแปลงปลูกทุกวันในช่วงเช้าหรือเย็น

ไม่ควรรดน้ำแปลงปลูกในช่วงอากาศร้อนจัด เช่น เวลาเที่ยง สวนผักของคุณบัญชาจะใช้เรือในการรดน้ำ ซึ่งสามารถให้น้ำได้ทั่วถึง หรือเกษตรกรท่านอื่นก็ใช้ระบบน้ำแบบสปิงเกลอร์ก็ได้เช่นกัน หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ไปได้ราว 10-14 วัน เมล็ดขึ้นฉ่ายจะเริ่มงอก โดยจะแทงรากออกมาก่อน แล้วจึงจะเห็นเป็นใบ ช่วงระยะเวลาดังกล่าวสำคัญที่สุดของการดูแลรักษาขึ้นฉ่าย อย่าให้แปลงปลูกขาดน้ำเป็นอันขาด แปลงต้องมีความชุ่มชื้น เพื่อสามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ (เพราะแปลงปลูกไม่ได้กางซาแรนพรางแสงให้) ถ้าดินแห้งจะทำให้รากหรือใบของต้นขึ้นฉ่ายแห้งตายได้ง่าย และยังมีแมลงศัตรูพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ “จิ้งหรีด” ที่ชอบมากินใบกัดต้นอ่อน การป้องกันจำกัด จะต้องฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแปลง กลุ่ม “โอเมทโทเอท” โดยอัตราที่แนะนำ คือ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ในช่วงแรก

การให้ปุ๋ยขึ้นฉ่าย
ในช่วงแรก ต้นขึ้นฉ่ายยังคงได้ปุ๋ยจากปุ๋ยคอกที่อยู่ในแปลง แต่เมื่อต้นกล้าอายุได้ 1 เดือน จะมีใบจริง 2-5 ใบ เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยเคมีช่วย โดยจะใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 หว่านบางๆ ให้ทั่วแปลงปลูก โดยจะหว่านให้ทุกๆ 10-15 วัน ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากสภาพต้นและการเจริญเติบโตว่าดีมากน้อยเพียงใด ถ้าสังเกตว่า ต้นขึ้นฉ่ายเจริญเติบโตไม่ดี หยุดชะงัก ก็อาจมีการกระตุ้นการเจริญเติบโตด้วยการหว่านปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ช่วยให้บ้างตามความเหมาะสม ซึ่งการให้ปุ๋ยเคมีทุกครั้งต้องให้น้ำตาม จนกว่าปุ๋ยจะละลายจนหมดทุกครั้ง

นอกจากปุ๋ยเคมีที่ใส่ให้ทางดินแล้ว เกษตรกรสามารถเสริมด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน สารป้องกันกำจัดโรคแมลง ตามความเหมาะสม โดยคุณบัญชาจะใช้ให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น  ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องโรค เช่น โรคใบด่างลาย โรคก้านใบแตก โรคใบไหม้ ใบจุด ฯลฯ ซึ่งสาเหตุมาจากเชื้อรา คุณบัญชา อธิบายว่า พื้นฐานของเชื้อราจะเจริญได้ดีในสภาพดินที่เป็นกรด ดังนั้น ต้องแก้ไขดินให้เป็นด่าง เมื่อพบอาการของโรค คุณบัญชา จะเลือกใช้วิธีการใส่ “ปูนขาว” เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของดินให้เป็นด่าง ทำให้สภาพดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตหรือแพร่กระจายพันธุ์ของเชื้อรา ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลดี แต่ปูนขาวที่นำมาใช้นั้น คุณบัญชา แนะนำว่า ต้องเป็นปูนขาวที่ได้จากเปลือกหอยเผาเท่านั้น นอกจากปรับสภาพดิน ลดความรุนแรงและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชแล้ว ยังมีธาตุอาหาร เช่น แคลเซียม ช่วยทำให้ต้นผักหรือต้นขึ้นฉ่ายมีความแข็งแรงขึ้น เมื่อต้นขึ้นฉ่ายมีอายุได้ 90 วัน ก็สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

การเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะเรียกกันว่า “ถอน” โดยวิธีการเก็บเกี่ยวขึ้นฉ่าย หรือการถอน นั้นคือ การดึงต้นขึ้นฉ่ายออกมาจากดิน เกษตรกรต้องแกะใบขึ้นฉ่ายที่เหลืองออก และเขย่าเอาดินออก (ดินจะหลุดออกจากรากง่ายเพราะเป็นผลจากการเตรียมดินที่มีส่วนผสมของขี้ไก่ แกลบ นั้นเอง) จากนั้นจะเข้ากำ โดยใช้หนังยางรัด เวลาชั่งจะมีเคล็ดลับในการบรรจุที่เป็นวิธีที่ทำให้การบรรจุผักขึ้นฉ่ายลงถุงได้รวดเร็ว ใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดวางบนตาชั่ง จากนั้นวางขึ้นฉ่ายที่เข้ากำแล้ว ประมาณ 5 กิโลกรัม นำถุงพลาสติกเหนียว ชนิดเจาะรูมาสวม จับปากถุงฟิวเจอร์บอร์ดให้ห่อเข้า เพื่อให้เข้าถุงพอดี หลังจากนั้น ดึงแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดออก ก็จะสามารถใส่ขึ้นฉ่ายลงถุงละ 5 กิโลกรัม อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีม้วนปากถุงพลาสติกและใส่ขึ้นฉ่ายลงในถุงทีละกำจนเต็มถุง แล้วเอาไปชั่งบนตาชั่ง ถ้าหนักเกิน 5 กิโลกรัม ก็ดึงต้นขึ้นฉ่ายออก ตอนที่ดึงต้นขึ้นฉ่ายออก มักจะทำให้ผักช้ำ ต้นหัก และเกิดการเน่าได้ง่าย ผักขึ้นฉ่ายมักจะถอนและเข้ากำบรรจุกันในแปลงปลูก ซึ่งอากาศค่อนข้างร้อน เกษตรกรจึงต้องมีร่มขนาดใหญ่ คอยบังแดดให้เข่งหรือกองผักไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง

คุณบัญชา ฝากทิ้งท้ายว่า แม้ผักขึ้นฉ่ายเป็นผักที่มีราคาดี แต่ก็ยังไม่สามารถปลูกได้อย่างต่อเนื่อง ปลูกซ้ำที่ไม่ได้ หรือได้ผลที่ไม่ดีเท่าไรนัก เคยให้นักวิชาการเกษตรเข้ามาศึกษา ว่าพอจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ยังแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้ จนในบางพื้นที่ต้องมีการปลูกขึ้นฉ่ายในถุงดำ เพื่อหนีปัญหาเรื่องโรค ซึ่งก็สามารถผลิตออกมาได้ดี เป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังให้ผลผลิตได้ไม่สูงเท่าการปลูกลงดิน


ขอบคุณบทความจาก www.matichon.co.th

ธุรกิจขายสมุดโน้ตเงินล้านออนไลน์ Amazon KDP

ธุรกิจขายสมุดโน้ตเงินล้านออนไลน์ Amazon KDP
E-book “คำภีร์ขายสมุดโน้ตเงินล้านออนไลน์ ลงทุน 0 บาท สำหรับมือใหม่”
Back To Top